โลกหลังโควิด​-19​ | โดย... วชิรวิทย์​ เลิศบำรุงชัย


"สิ่งที่เคยได้เห็น​ จะไม่ได้เห็น.. สิ่งที่ไม่เคย​เห็น​ ก็จะได้เห็น"​ นี่อาจเป็นคำตอบที่สั้นและกระชับที่สุด​ ว่าโลกหลังโควิด​จะเป็นอย่างไร

เหมือนเป็นการเขย่าโลกครั้งใหญ่สำหรับโรคระบาดโควิด-19​ หลายคนบอกว่าหลังผ่านพ้นสถานการณ์อันเลวร้ายไม่ต่างจากสงครามโลกไปแล้ว ก็จะมีการเปลี่ยนผ่านแบ่งยุคสมัย เป็น​" โลกยุคก่อนโควิด​" และ​ "โลกยุคหลังโควิด"

เช่นเดียวกับในสมัยก่อนที่มีโลกยุคก่อนสงครามโลก​ และโลกยุคหลังหลังสงครามโลก

สถานการณ์ที่ไม่ปกติ​ ย่อมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมวิถีชีวิตของผู้คนไประยะหนึ่ง แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงไปแล้ว​ ทุกอย่างก็จะไม่หวนคืนกลับมา​ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้หลายคนบอกว่าหลังจากผ่านวิกฤตนี้ไป​ โลกจะเปลี่ยนยุค​ กระทบใน​ 3​ ด้าน​หลัก เศรษฐกิจ​ สังคม​และการเมือง​

#วชิรวิทย์รายวัน ​ เห็นว่า​ ด้านเศรษฐกิจ​ การทำธุริการ​ การประกอบกิจการ​ต่างๆ​ หลังโควิดจบ​ จะเปลี่ยนไปอย่างมาก​ ซ้ำเติมโลกที่ถูกดิสรัปชั่นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นทุนเดิม​อยู่แล้ว ให้เปลี่ยนโฉมหน้าไปเร็วขึ้น​ ​

เมื่อขอความ​ร่วมมือ​ให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อควบคุมโรค​ แต่งานต้องเดินต่อ​ การทำงานที่บ้านด้วยระบบออนไลน์​เป็นทางเลือกเดียว​ แม้อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง​ ​แต่ในระยะเวลาหนึ่งเทคโนโลยี​จะแก้ข้อจำกัดนั้นได้​ และเมื่อระบบออนไลน์​ทำได้มีประสิทธิภาพ​ ทั้งยังช่วยลดต้นทุน​ อนาคตเราจะเลือกใช้วิธีนี้ไปตลอด​ จนกลายเป็นวิถีชีวิตปกติ

การลงทะเบียนเพื่อขอค่าชดเชยออนไลน์ ก็ทำให้เห็นว่าระบบราชการต่างๆ​ ที่เคยมีข้อจำกัดว่าจะต้องไปที่ทำการ, หน่วยงานเท่านั้น กำแพงของขั้นตอนที่มากมายเพื่อติดต่อราชการ​ ก็ได้ถูกทำลายลง​ แทนที่ด้วยระบบออนไลน์ที่สามารถยืนยันตัวตนได้ สะดวกและรวดเร็ว​

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ​ ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด​จะส่งผลกระทบ​ต่อเป็นลูกโซ่​ ทั้งการเมืองและสังคม​

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า​ "วิกฤตที่ซ้อนวิกฤต​ และอยู่บนวิกฤตอีกทีหนึ่ง" ​มีความเลวร้ายยิ่งกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ด้วยซ้ำไป​ จนทำให้ประเทศไทยอาจจะต้องกู้เงินจาก IMF ครั้งที่​ 2​ พอจะสะท้อนให้เห็นว่า อีกล้านๆคนก็กำลังอยู่ในภาวะลำบาก​ และทุกคนกำลังหาทางรอดเช่นเดียวกัน

มีคนที่ตกงาน​กระทันหัน​ หรือกำลังจะตกงานจากภาวะเศรษฐกิจ​ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว​ ก็ตกงานเร็วขึ้น​
อาชีพที่เคยทำอยู่​ หลังพ้นวิกฤต​เมฆหมอกจากหายไป​ ก็อาจไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมนั้นได้อีกแล้ว​ และงานใหม่ก็อาจจะไม่ใช่งานที่เคยทำมา​ก่อน

ในแง่ของการเมือง​ ซึ่งเป็นเรื่องของความมั่นคงและความมั่นคงต่อให้จะมีสถานการณ์เลวร้ายเพียงใดก็ต้องรักษาสถานภาพให้อยู่ได้​ การเมืองเป็นสิ่งเดียวที่ต้องการ​หยุดเวลา​ เพื่อไม่ให้อำนาจเปลี่ยนแปลง​ แต่วิกฤตที่เข้ามาท้าทาย​ ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ที่ทำให้ต้องจับตาดูปฏิกิริยาของประชาชน​ที่ได้รับผลกระทบ​ ว่าจะถึงขั้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง​หรือไม่

ขณะที่ด้านสังคม​ มีเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า โควิด-19​ ได้สร้างความขัดแย้งภายในลึกๆให้กับชุมชน​

เราได้เห็นการตีตรา​เรื่องจิตสำนึก​ ซึ่งเป็นนามธรรม​ละเอียดอ่อน​ แน่นนอนว่าการชี้หน้าคนนั้นมีจิตสำนึก​ คนนี้ไม่มีจิตสำนึก​ หลังจากที่โควิด-19​ ผ่านพ้นไปแล้ว​ ความรู้สึกที่เหลืออยู่จะกลายเป็นบาดแผล​ คือความแปลกแยก​ หรือแตกแยก​

คนที่เคยสนิทกันก็จะไม่สนิทใจ, คนที่เคยเป็นเพื่อนบ้านกันก็จะกลายเป็นแค่คนที่ไม่ต้องการรู้จัก​

ท่ามกลางวิกฤต​ ที่ต่างคนต่างดิ้นรนเอาตัวรอด​ มีคำพูดคุ้น​หูบอกไว้​ "จะดูคนให้ดูช่วงเวลาลำบาก" หรือ​ "จะพิสูจน์​ใจคน​ให้ดูช่วงเวลาเกิดวิกฤตเดือดร้อน ก็จะได้เห็นว่ามีใครสักกี่คนที่อยู่กับเราคอยช่วยเหลือเราจริงๆ"

ยิ่งสถานการณ์​แบบนี้ยิ่งเห็นชัดเจน​ และหลังจากโควิดผ่านพ้น​ ความสัมพันธ์​ไม่เหมือนอีกแล้ว​ เรียกได้ว่าสถานการณ์​วิกฤตช่วยคัดกรองคนจริงใจ​

บนโลกใบนี้ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน​ การเกิดขึ้นของโรคระบาด ที่มาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ล้วนเป็นไปตาม​ "กฎธรรมชาติ"

มีภาพที่เป็นปริศนาธรรมในโรงมหรสพทางวิญญาณของ​ "พุทธทาสภิกขุ" ที่​จังหวัดสุราษฎร์ธานี​

พระภิกษุนั่งอยู่บนลิ้นของงูพิษ แต่ไม่หล่นไปโดนเขี้ยวของงูพิษ​ แสดงให้เห็นว่าทุกชีวิตล้วนอยู่ท่ามกลางความ​ทุกข์​ ต้องตั้งสติดีดีแบบพระภิกษุ​ในรูป​ จะได้ไม่ตกไปโดนเขี้ยวงู

ตีความว่า หากเห็นความ เกิด-ดับ แล้วไม่ถือมั่นหวั่นไหว อยู่ในโลกไม่ต้องหนีไปไหน มีสติรู้ตัว​ มีปัญญาหาทางแก้ปัญหา​ ก็ไม่หล่นไปถูกเขี้ยวของโลก​ เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู ชิดเขี้ยวอันเต็มไปด้วยน้ำพิษ แต่ไม่เคยถูกพิษนั้นเลย สำหรับโลกเราสมัยนี้ก็นับว่าเต็มไปด้วยพิษงู เราจะต้องอยู่อย่างฉลาด​ โดยไม่ถูกเข้ากับพิษเหล่านั้น​ ด้วยความเข้าอกเข้าใจ

คนที่ยอมรับ และปรับตัว​ จะเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้ต่อไปได้อย่างไม่เป็นทุกข์​ หรือเป็นทุกข์​น้อยที่สุด​ เมื่อเกิดปัญหา​จะมีปัญญาหาทางออกได้​ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนไปกี่ยุคก็ตาม​

#วชิรวิทย์รายวัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!