สปสช.ตั้งงบ 4.4 พันล้าน เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพหลังโควิด 19
เลขาธิการสปสช. เผยกันงบ 4.4 พันล้านบาทจากงบโควิด 1.4 หมื่นล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุข เปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ หลังโควิด 19 ตั้งเป้าลดความแออัดในโรงพยาบาล ห่วงชุมชนเมืองเปลี่ยนไม่สำเร็จเพราะ ไม่มีระบบปฐมภูมิ
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 63 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลที่จะออกพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มาจำนวน 45,000 ล้านบาท จำนวนนี้ 14,000 ล้านบาทจะถูกแบ่งมาใช้ในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองโดยเฉพาะ เพื่อตรวจคัดกรอง รักษา และเตรียมพร้อมเพื่อเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพในโรงพยาบาลหลังโควิดจบ ที่ต้องลดความแออัดในโรงพยาบาลด้วย
โดยแบ่งเงิน 4,455.02 ล้านบาท แยกเป็นงบเพิ่มเติมในปี 2563 จำนวน 79.17 ล้านบาท และปี 2564 จำนวน 4,375.85 ล้านบาทใช้นำร่องเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพหลังวิกฤตโควิด 19 ที่จะต้องลดความแออัดในโรงพยาบาล เว้นระยะห่างทางสังคมไม่ให้สถานพยาบาลกลายเป็นจุดเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค
"จะมีการนำสาธารณสุขทางไกลTelehealth และระบบการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine มาใช้ในหน่วยบริการที่มีความพร้อม ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาจไม่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แต่จะใช้วิธีการ Video Call กับแพทย์ซึ่งเป็นหมอครอบครัว และมีการส่งใบสั่งยา ทาง LINE เพื่อ นำไปยื่นรับยาที่ร้านขายยา โดยสปสช.จะจ่ายค่ายาไปที่ร้านขายยาโดยตรง" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
อย่างไรก็ตามในช่วงการระบาดของโควิด 19 ได้มีการทดลองบริการส่งยา และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยที่บ้านทางไปรษณีย์ กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองแล้ว
เลขาธิการสปสช.กล่าวอีกว่า วิธีลดความแออัดในโรงพยาบาลดังกล่าวอาจจะใช้ได้ผลดี ในชุมชนที่อยู่ต่างจังหวัด เพราะมีระบบสาธารณสุขปฐมภูมิที่เข้มแข็งคือมีอสม. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ. สต) ในขณะที่ชุมชนเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร น่าเป็นห่วง เพราะชุมชนมีความหลากหลาย และไม่มีระบบบริการปฐมภูมิเหมือนอย่างต่างจังหวัด ส่วนใหญ่ เป็นโรงพยาบาล และคลินิกเอกชน แต่จะมุ่ง อุดหนุนงบประมาณ ในโครงการคลินิกอบอุ่น เพื่อเพิ่มจำนวนให้ครอบคลุม มากยิ่งขึ้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น