ผู้บริโภคหวั่น โควิด – 19 ระบาดระลอกใหม่ หลังพบเชื้อบนเขียงแล่แซลมอนในจีน

ผู้บริโภคหวั่น โควิด – 19 ระบาดระลอกใหม่ หลังพบเชื้อบนเขียงแล่แซลมอนในจีน
กรมประมงยันคุมเข้มทุกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนสินค้าทั้งนำเข้า-ส่งออก มั่นใจสินค้าสัตว์น้ำไทยกินได้ สบายใจ ปลอดภัย ไร้โควิด-19 อย่างแน่นอน !!

จากกรณีมีการเผยแพร่ข่าวการกลับมาระบาดของเชื้อโควิด-19 ในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยรายงานว่าพบเชื้อบริเวณเขียงแล่ปลาแซลมอนนำเข้าจากต่างประเทศในตลาดซินฟาตี้ กรุงปักกิ่ง นั้น ได้สร้างความกังวลใจให้กับผู้บริโภคและกระทบต่อตลาดอาหารของไทยด้วย เนื่องจากประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ในการบริโภคแซลมอน ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค กรมประมงจึงขอยืนยันว่าสินค้าสัตว์น้ำของไทยสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยไร้การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 และในส่วนของปลาแซลมอนประเทศไทยมิได้นำเข้าจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเพื่อการบริโภคในลักษณะปลาดิบแต่อย่างใด การนำเข้าปลาแซลมอนของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อนำมาแปรรูปและส่งออก โดยผ่านกระบวนการผลิตที่มีการควบคุมตามมาตรฐานสากล  
นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ไม่ส่งผลกระทบต่ออาหาร ที่ผลิตจากสัตว์น้ำในประเทศไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากอาหารที่ผลิตจากสัตว์น้ำที่ใช้บริโภคในประเทศมีระบบการควบคุมตรวจสอบด้านสุขอนามัย ตั้งแต่เรือที่ใช้ในการทำการประมงต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสุขอนามัย ส่วนสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงต้องได้มาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) นอกจากนี้ สินค้าที่วางจำหน่ายในตลาดสดมีการสุ่มตรวจอย่างสม่ำเสมอโดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย สถานที่จำหน่ายอาหารต้องขึ้นทะเบียนและผ่านการตรวจสอบจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าสัตว์น้ำสดและอาหารที่แปรรูปจากที่ใช้ในการบริโภคมีระบบการตรวจสอบที่เหมาะสม เป็นไปตามมาตรฐานสุขอนามัยที่ดี และปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค
สำหรับสินค้าประมงส่งออก กรมประมงมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยตลอดสายการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบที่นำเข้าโรงงาน กระบวนการในการแปรรูป การบรรจุ ตามมาตรฐาน Good Manufacturing Practice หรือ GMP และ Hazard Analysis Critical Control Point หรือ HACCP เพื่อให้ระบบคุณภาพของโรงงานและผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและประเทศผู้นำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากประเทศไทย และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดภาครัฐและผู้ประกอบการได้มีความร่วมมือที่จะเพิ่มการเฝ้าระวังป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ทั้งในผลิตภัณฑ์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องได้แก่
1. มีการตรวจคัดกรองอุณหภูมิของร่างกายผู้ปฏิบัติงาน และมีมาตรการตรวจพิสูจน์เชื้อโดยหน่วยงานสาธารณสุขของจังหวัดนั้นๆ
2. จัดให้มีมาตรการเว้นระยะห่าง (Social distancing) ทั้งในสถานประกอบการส่วนการผลิต โรงอาหาร และส่วนบริการทั่วไปในโรงงาน รวมถึงการจัดให้มีแอลกอฮอล์/เจลสำหรับล้างมือ โดยกำหนดเป็นมาตรการที่บุคลากรทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
3. มีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อรอบโรงงานเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอ
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย่างไรก็ตาม สัตว์น้ำโดยทั่วไปจัดเป็นสัตว์เลือดเย็น เมื่อพิจารณาเกี่ยวกับการระบาดวิทยา ปัจจุบันไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่ามีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสัตว์น้ำ หรือมีข้อบ่งชี้ว่าเกิดการติดเชื้อใน
สัตว์น้ำได้ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้รายงานการพบเชื้อก่อโรคนี้ในสุนัข แมว และค้างคาว ซึ่งเป็นสัตว์เลือดอุ่น และการระบาดเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ ส่วนสัตว์น้ำทั่วไปใช้เหงือกในระบบการหายใจ จึงมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จึงขอให้ผู้บริโภคโปรดมั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำ และขอให้เลือกรับประทานสัตว์น้ำที่มีความสด สะอาด และปรุงสุกใหม่เสมอเพื่อสุขอนามัยที่ดี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!