จับค้างคาวเขาอ่างฤาไนตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา คาดรู้ผล ก.ค.นี้
กรมอุทยานฯ จับมือ โรงพยาบาลจุฬาฯ ลุยตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาในค้างคาวมงกุฎ เขาอ่างฤาไน ประเมินความเสี่ยงแนวโน้มโรคอุบัติใหม่ คาดรู้ผลเบื้องต้นเดือนก.ค. นี้
เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะนักเทคนิคการแพทย์ จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งพบค้างคาวมงกุฎ อาศัยอยู่ภายในท่อระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ จำนวนมากกว่า 200 ตัวโดยวันนี้ (19 มิ.ย.63) เจ้าหน้าที่ตั้งเป้าจับตัวอย่างค้างคาว 50 ตัวเพื่อนำมาตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา
นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ หมอล็อต หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช บอกว่า ค้างคาวเป็นสัตว์แหล่งรังโรค ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ covid-19 นายกรัฐมนตรี ได้สั่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ให้ต้องสำรวจค้างคาวมงกุฎที่มีอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 23 ชนิดซึ่งฐานข้อมูลเดิมไม่ทันสมัย เนื่องจากมีการโยกย้ายถิ่นอาศัย จึงต้องลงพื้นที่สำรวจใหม่ พร้อมกับตรวจหาเชื้อไวรัสไปด้วย เบื้องต้นตั้งเป้าตรวจผืนป่าตะวันออก ก่อนขยับไปสำรวจผืนป่าตะวันตก
"การตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่าในค้างคาวครั้งนี้นับเป็นการประเมินความเสี่ยงของโรคอุบัติใหม่อื่นๆนอกจากโรคโควิด 19 เป็นการรวบรวมข้อมูลทำเพื่อหาแนวทางรับมือ เป็นทางรอดของมวลมนุษยชาติ" หมอล็อต กล่าว
ขณะที่ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ บอกว่า หลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ได้จับตัวอย่างค้างคาวมาแล้ว จะนำมาจำแนกชนิด ดูลักษณะสัณฐานวิทยา ชั่งน้ำหนัก วัดขนาดปีก และเก็บดีเอ็นเอ ว่าเป็นค้างคาวพันธุ์มงกุฎจริงหรือไม่ หลังจากนั้นจะนำไป เจาะเลือด เพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจในแลปทดลองของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
"เบื้องต้นการเก็บตัวอย่างค้างคาวจากถ้ำแห่งหนึ่งใน จ.จันทบุรี เมื่อ ต้นเดือน มิ.ย. และที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ซึ่งเป็น 2 แห่งแรกในประเทศไทย คาดว่าจะได้ผลตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงต้นเดือนก.ค.นี้"
/////
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น