ชี้ วิกฤตเป็นโอกาส ดันอุตสาหกรรมยา-ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
สร้างความมั่นคงระบบสาธารณสุข ใช้จุดแข็งด้านควบคุมโรค ตั้งเป้าเป็นผู้นำท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โกยเงินเข้าประเทศหลังโควิด-19
วันนี้ (22 ก.ค. 2563) เวที "Visual Policy Forum : เตรียมพร้อมอย่างไรกับการระบาดรอบที่สองของโควิด-19" ในช่วงเสวนา "วัคซีน - ยา: ความหวัง - โอกาส – วิกฤต" นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่าวัคซีนถือเป็นความหวังอย่างมาก เพราะอยู่ระหว่างหารือการประสานเทคโนโลยีการแบ่งบรรจุ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนได้ ซึ่งต้องรอผลการเจรจาและอาจใช้เทคโนโลยีด้วยการนำเชื้อฉีดเข้าไข่ฝัก เพื่อสร้างภูมิต้านทานออกมา โดย อภ. มีโรงงานลักษณะดังกล่าวที่ จ.สระบุรี และทดลองในหนู คาดว่าจะทราบผลปลายเดือนต.ค. 2563
นอกจากนี้ ยังให้งบประมาณสนับสนุน ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ในการวิจัย cell-based COVID-19 vaccine ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ จึงกำลังหารือว่าจะลงทุนเรื่องนี้อย่างไร ทั้งหมดก็เพื่อให้ไทยพึ่งพาตนเองให้ได้
ด้าน รศ.ภกญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า กลไกธุรกิจยาค่อนข้างซับซ้อนหลายอย่าง ก็เป็นหลุมดำ อย่างการวิจัยพัฒนานั้น เมื่อทำสำเร็จมีการตั้งราคาแพงเกินไปหรือไม่ จึงเกิดคำถามกรณีวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ที่กระจายไปทั่วโลก ความหวังของทุกคนก็มองว่า วัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาน่าจะเป็นสินค้าของสังคมโลก ไม่ควรมีการผูกขาด ประเด็นคือจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งระดับโลกก็มีการพูดคุยเรื่องนี้ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ ยาโควิด-19 ก็มีการพัฒนา แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีมาตรฐานแน่ชัดในการรักษาโควิด-19
"หากเราไม่เตรียมตัวในคลื่นลูกที่ 2 และหากผู้ป่วยมาก แต่เราไปมุ่งยาโควิด-19 วัคซีน ปัญหาระบบยาอื่น ๆ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ จากบทเรียนคลื่นลูกที่ 1 ต้องพิจารณาปัญหาภาพรวม"
รศ.ภกญ.จิราพร กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมด้านยาของประเทศไทยตอนนี้อ่อนแอมาก ทั้งที่เมื่อก่อนอุตสาหกรรมยาเข้มแข็ง ปัจจุบันมีความสามารถผลิตยาสามัญชนิดเดิม ไม่สามารถผลิตยาชนิดใหม่ ๆ ได้ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรสนับสนุนอุตสาหกรรมยา ด้วยการวางแผน ข้อมูลเรื่องห่วงโซ่อุปทาน และการทรานเฟอร์เทคโนโลยีก็มีส่วนในการช่วยพัฒนาด้วย
‘นพ.ทวิราป ตันติวงษ์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMa) กล่าวว่า ปัจจุบันยา และวัคซีนโควิด-19 มีการผลิตในหลายประเทศ ซึ่งเมื่อมีการเจรจา ก็ควรเจรจาในหลายประเทศ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องถามทางภาครัฐว่า จะมียุทธศาสตร์ในการเจรจาเรื่องนี้อย่างไร คือ 1) อาจคุยตั้งแต่เนิ่น ๆ และ 2) เจรจาใกล้สำเร็จแล้ว โดยสิ่งสำคัญต้องเจรจาหลากหลายประเทศที่แตกต่างกันไป เพราะเรามีประสบการณ์ในการเจรจาอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น อย่ากลัวการเจรจา
ด้าน ‘กลินท์ สารสิน’ ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชน ก็ช่วยประสานหาเครื่องมือแพทย์ในการรับมือโรคระบาด ล่าสุดเจรจากับต่างประเทศ ที่จะทานเฟอร์เทคโนโลยีด้านวัคซีนหากประเทศใดสามารถผลิตได้ก่อน เพื่อให้คนไทยได้ใช้วัคซีนเร็วที่สุด
ขณะเดียวกัน หลังจากปิดประเทศทำให้เห็นความจำเป็นของอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ควรพัฒนา และมีโอกาสเติบโต คือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและการแพทย์ แต่วิกฤตตอนนี้คือมีคนตกงานจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้ดี ถือเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะชาวต่างชาติมีความเชื่อมั่นอย่างมากในความปลอดภัยด้านสุขภาพของไทย อนาคตธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไม่ว่าจะเป็น Medical Hub จะต้องต่อยอดไปเป็น Wellness Tourism จะเติบโตมาก เป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้เข้าประเทศ เป็นแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลจะส่งเสริมต่อไป
3 ข้อเสนอเปิดประเทศ
‘นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ’ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ด้านต่างประเทศ ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 ข้อ ข้อแรก คือ ต้องเปิดประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้คนมีงานทำ โดยอยู่บนหลักการ 3 อย่างคือ 1) เลิกตั้งเป้าหมายผู้ติดเชื้อเป็น 0 ในประเทศ แต่กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำควรมีกี่รายที่รับได้ 2) ต้องเปิดประเทศอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเข้มงวดในเงื่อนไขไม่มีข้อยกเว้น 3) เปิดให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมาผู้ที่กำหนดทิศทางเป็นรัฐและภาคเอกชน
ข้อสอง การกระตุ้นให้ประชาชนในประเทศรักษาระดับการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด ทั้งการใส่หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งใช้แอปพลิเคชันไทยชนะมากที่สุด และ ข้อสาม ต้องพัฒนาระบบการเยียวยาเศรษฐกิจ ทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และใช้โอกาสนี้ในการลดความเหลื่อมล้ำสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น