3 นักธุรกิจภูเก็ต หวั่น 'ภูเก็ตโมเดล' เม็ดเงินไหลไม่ถึงรายย่อย วอนรัฐพักหนี้ 2 ปี - ตั้งกองทุนเยียวยา
กลุ่ม Phuket For All กังวล โควิดระบาดซ้ำดึงเศรษฐกิจแย่กว่าเดิม แนะรัฐตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการภูเก็ต พักชำระหนี้ 2 ปี
30 ส.ค. 63 จากกรณีรัฐบาลเตรียมนำร่องเปิดประเทศ ที่จังหวัดภูเก็ต หรือภูเก็ตโมเดลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ล่าสุดกลุ่มภาคประชาสังคม Phuket For All ซึ่งมีทั้งประชาชนและนักธุรกิจในพื้นที่ต่างแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามถึงความพร้อมของมาตรการรองรับการเปิดประเทศตามโมเดลดังกล่าว
นายปรีชา ใจอาจ ตัวแทนกลุ่ม Phuket For All นักธุรกิจเอกชนกล่าวว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลจะนำร่องเปิดประเทศที่ภูเก็ต แต่ก็มีคำถามว่าหากเกิดระบาดซ้ำรอบจะมีแผนรองรับอย่างไร โดยเฉพาะแนวทาง 5T ที่รัฐบาลประกาศออกมาว่ามาตรการเปิดเมืิองปลอดภัย แต่ยังไม่มีใครพูดถึงแผนรองรับ หากมีผู้ติดเชื้อโควิด 19 หลุดออกจะที่กักกันโรค โดยหากต้องล็อกดาวน์บางพื้นที่จะต้องสร้างผลกระทบให้กับผู้ประกอบการรายย่อย
"เมื่อครั้งโควิดระบาดรอบแรกที่ภูเก็ต เอกชน ท้องถิ่นต้องช่วยเหลือตัวเอง และภาครัฐไม่ได้ลงมาดูแลเยียวยาอย่างจริงจัง มีการการล็อคดาวทั้งจังหวัดส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง หากมีการระบาดซ้ำหลังเปิดรับนักท่องเที่ยว ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ"
นายปรีชา ยังเห็นด้วยว่าภูเก็ตโมเดลในระยะสั้น ส่งอานิสงส์เฉพาะกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก แต่ว่ารายย่อย ร้านค้าทั่วไป แท็กซี่รายวัน รถเช่า กรุ๊ปทัวร์ และอุตสาหกรรมในห่วงโซ่การท่องเที่ยวต่างๆรอบนอกยังไม่ได้รับอานิสงส์ หากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดคือต้องเร่งเยียวยา ผู้ประกอบการรายย่อยที่กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สิน ที่หลายแห่งเริ่มปิดกิจการ บางแห่งก็มีนายทุนต่างชาติเข้ากว้านซื้อ ซึ่งจะกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจภูเก็ตในระยะยาว
ขณะที่นายอมร อินทรเจริญ ประธานกรรมการบริหาร ภูเก็ตเพิร์ล กรุ๊ป กล่าวว่าบริษัทซึ่งผลิตเครื่องประดับจากไข่มุกและมีฟาร์มหอยไข่มุก ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาซื้อสินค้า ปัจจุบันปรับตัวขายสินค้าในรูปแบบออนไลน์แทน
"การปรับตัวครั้งนี้มีบทเรียนที่ได้จากวิกฤตสึนามิ เมื่อปี 2547 ที่ทำให้ต้องคิดแผน 1 แผน 2 รองรับเอาไว้เสมอ เมื่อเกิดวิกฤตโควิดก็ยังมีแผนสองไว้รองรับ"
นายอมร บอกว่ารัฐบาลควรตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบ โดยในแต่ละปีจังหวัดภูเก็ตสามารถเก็บภาษีที่ได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 4 แสนล้านบาทหากนำเงินส่วนนี้แบ่งออกมาร้อยละ 10-20 ตั้งเป็นกองทุนเยียวยาก็จะช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบได้
และอีกมาตรการสำคัญอยากให้มีการพักชำระหนี้ ส่งเสริมมาตรการลดหย่อนภาษีต่างๆในพื้นที่ รวมถึงให้อาจจะให้ หาดป่าตองเปิดตลอด 24 ชั่วโมง จัดกิจกรรมอีเว้นท์และส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยเที่ยวไทย อย่างจริงจัง
ด้าน นายวิทยา วงศ์วิเชียรกุล เลขาธิการหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กล่าวว่า สัดส่วนนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต เป็นคนไทยเพียงร้อยละ 13 ที่เหลือเป็นชาวต่างชาติแต่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เป็นส่วนน้อยก็สามารถเพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นหากรัฐมีมาตรการส่งเสริมจริงจัง
ขณะเดียวกัน ส่วนกรณีสินเชื่อฉุกเฉินหรือSoft loan ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาว่าแบงค์ไม่ยอมปล่อยกู้ ผู้ประกอบการส่วนมากมีประวัติค้างชำระหนี้เดือนถึง 2-3 เดือนทำให้แบงค์กลัวจะเกิดหนี้เสีย จึงเห็นสอดคล้องกันว่ารัฐควรจะตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในวันที่ 4-6 กันยายนนี้ในนามหอการค้าอันดามัน และกลุ่มภาคประชาชน Phuket For All ก็จะเข้าพบ เพื่อหารือถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูเก็ตที่ตรงจุดและปลอดภัยกับประชาชนภูเก็ต อย่างรอบด้านด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น