ดันเกษตกร​ ๖๔,๑๔๔​ ราย​ ลุยเกษตรทฤษฎีใหม่ พัฒนาคน-สร้างชุมชนยั่งยืน​

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ไม่เพียงทำลายสุขภาพของมนุษย์จนถึงขั้นเสียชีวิต แต่ยังทำลายเศรษฐกิจในประเทศส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร่งด่วนในการบรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ในท้องถิ่น ให้มีความมั่นคงในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร มีทางเลือก มีอาชีพ มีความอุดมสมบูรณ์และอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรฟื้นฟูภาคเกษตรผลิตสินค้าด้านพืช สัตว์ ประมง รองรับ ความขาดแคลนอาหารในอนาคต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและ สังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนโดยน้อมนำ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต 

โดยนำรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ การบริหารจัดการที่ดิน ป่า น้ำ คน โดยนำร่องให้เป็นตัวอย่างความสำเร็จในระดับพื้นที่อย่างน้อยตำบลละ ๑ แห่ง ให้เป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในการเรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งให้ตระหนักถึงความปลอดภัยต่อตนเองต่อสิ่งแวดล้อมและต่อผู้บริโภค เป็นหนทางรอดของเกษตรกรไทยและมุ่งสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมปศุสัตว์ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 15 เดือน 

"โดยพื้นที่ดำเนินการเพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่ จำนวน ๔,๐๐๙ ตำบล เกษตรกรเข้าร่วมโครงการตำบลละ ๑๖ ราย รวม ๖๔,๑๔๔ ราย มีพื้นที่รายละ ๓ ไร่ และจัดพื้นที่ทำเกษตรพร้อมพัฒนาแหล่งน้ำให้สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อการเกษตรได้อย่างเหมาะสม รวมเป็นพื้นที่ ๑๙๒,๔๓๒ ไร่ "

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่และ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพัฒนาพื้นที่จุดเรียนรู้ในรูปแบบกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตรตลอดจนพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ ด้วยระบบและวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อฟื้นฟูภาคการเกษตรภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ โดยมุ่งเน้นเกษตรกรที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง
 
การผลิตสินค้าในภาคการเกษตรไทยมีมูลค่าประมาณร้อยละ ๘.๑ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (ในปี พ.ศ. ๒๕๖๑) ในขณะที่ภาคการเกษตรขับเคลื่อนด้วยแรงงานคิดเป็นจำนวนร้อยละ ๓๒ ของแรงงานทั้งหมดของประเทศ (รวมเกษตรอาชีพและเกษตรกรบางเวลา) ผลผลิตต่อไร่ ในการปลูกข้าวเปลือกของประเทศไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และยังมีต้นทุนการผลิตข้าวสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านเป็นผลมาจากการใช้สารเคมีที่มากเกินควร ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้ภาคการเกษตรทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย หลายประเทศเผชิญวิกฤติความมั่นคงทางอาหารเป็นผลมาจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงและการระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันเพียงเท่านั้น แต่ยังสร้างปัจจัยลบอีกหลายด้านที่เป็นอุปสรรคต่อการผลิต อาหารให้เพียงพอต่อความต้องการ กรมพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่รับผิดชอบในการดำเนินงานโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้มีการประชุมชี้แจงหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แบบทางไกลผ่านระบบภาพและเสียงไปทุกสถานีพัฒนาที่ดิน ทั่วประเทศ เพื่อชี้แจงให้มีความรู้ความเข้าใจในนโยบายที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับทราบขอบเขตและแนวทางวิธีการดำเนินงานตามโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ต้องบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย ๑๓ ด้าน ได้แก่ ๑. การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ๒. คุณสมบัติของเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ ๓. การจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน ๔. การรับสมัครเกษตรกร ๕. การตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกร ๖. การฝึกอบรมเกษตรกร ๗. การปรับปรุงแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ๘. การส่งเสริมองค์ความรู้และสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพดิน ปลูกพืช เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ๙. การส่งเสริมการตลาด ๑๐. การเพิ่มช่องในการสื่อสารของเกษตรกร ๑๑. การให้ความรู้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ๑๒. การจ้างแรงงานเกษตรทฤษฎีใหม่ระดับตำบล ๑๓. การติดตามประเมินผล   

 อธิบดีเบญจพร กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ทำให้แรงงานคนหนุ่มสาวเป็นจำนวนมากต้องถูกเลิกจ้างงานทำให้ขาดรายได้ และแรงงานเหล่านี้เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด มีปัญหาการว่างงาน การดำเนินโครงการ ๑ ตำบล ๑ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่จะดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นแล้วยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทย ในระยะยาว เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน จึงได้เน้นย้ำกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกคน ให้ทำงานด้วยความเสียสละ มีจิตอาสา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเองและคนในชุมชนด้วยการศึกษาเรียนรู้แนวพระราชดำริการเกษตรทฤษฎีใหม่ และการจัดการข้อมูลความรู้ อยู่เสมอทั้งองค์ความรู้ใหม่และภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อตนเองเข้มแข็งจึงจะสามารถจัดการพัฒนาเกษตรกร ให้เข้มแข็งขึ้นมาได้ ด้วยการเชื่อมร้อยเครือข่ายการทำงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สู่การบูรณาการแก้ปัญหาอย่างรอบด้านและสร้างสรรค์ ใช้กระบวนการทำงานที่เน้นการปฏิบัติลงมือทำอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ความรู้และเทคโนโลยีการจัดการดินและน้ำของกรมพัฒนาที่ดิน คำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง คือ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีความสุขในชุมชนด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และมีการพัฒนาหมู่บ้านเกษตรกรเข้มแข็งเป็นจุดเรียนรู้ต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!