ชป.เน้นเก็บกักน้ำให้มากที่สุด หลังฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลน้ำในอ่างฯ หลายแห่งเพิ่มขึ้น
ฝนที่ตกหนักและตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าและน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น หากมีแนวโน้มที่ดีไปจนถึงสิ้นฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม คาดว่าจะสามารถเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ ได้พอสมควร หวังมีน้ำสำรองไว้ใช้ฤดูแล้งหน้าอย่างเพียงพอ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน (21 ส.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันประมาณ 32,302 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 8,942 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,665 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 1,969 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,000 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูฝนทั้งประเทศ ปัจจุบัน (ตั้งแต่ 1 พ.ค. - 21 ส.ค. 63) มีการใช้น้ำไปแล้ว 8,250 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น ร้อยละ 69 ของแผนจัดสรรน้ำฯ เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,764 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนจัดสรรน้ำฯที่วางไว้ คงเหลือน้ำที่จะต้องจัดสรรอีกเพียง 486 ล้าน ลบ.ม. ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปีทั้งประเทศ ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค. 63) ทำการเพาะปลูกไปแล้ว 11.23 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 16.79 ล้านไร่) เฉพาะในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำการเพาะปลูกไปแล้ว 4.56 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 56 ของแผนฯ(แผนวางไว้ 8.10 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวแล้ว 0.44 ล้านไร่
ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 – 20 สิงหาคม 2563 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกันประมาณ 3,400 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลเข้ารวมกันประมาณ 1,600 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำและระบายน้ำตามแต่ละช่วงเวลา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำต้นทุน และแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้ เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน นอกจากนี้ ยังกำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งทั่วประเทศ จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และกำลังเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ในทุกสถานการณ์ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดวัชพืชในลำน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น