ประกาศเขตอนุรักษ์ลำห้วย​ ดันชุมชน​กะเหรี่ยงภูเหม็นเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ​ ธ.ค.นี้

ป่าไม้อุทัยธานี​ เล็งตั้งคณะทำงานร่วม ยันแนวคิด​ “คนอยู่ได้ ป่าอยู่รอด สัตว์ป่าปลอดภัย” ด้านศูนย์​มานุษยวิทยาสิรินธร​ เดินหน้ายกระดับมติครม.3​ ส.ค.​ เป็นพ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

เมื่อวันที่​ 20 กันยายน 2563 ชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น ต.ทองหลาง อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีกรรมประกาศพื้นที่ทางวัฒนธรรม “เขตอนุรักษ์ลำห้วยภูเหม็น” ยืนยันดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมอันสอดคล้องกับธรรมชาติ พร้อมผลักดันเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษสู้ภัยกฎหมายป่าไม้ที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชน

นางสาวรัตนา ภูเหม็น ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น กล่าวว่า ลำห้วยภูเหม็นมีความสำคัญต่อชุมชน ทั้งเป็นแหล่งน้ำสายหลักใช้อุปโภค บริโภค และยังมีคุณค่าทางจิตวิญญาณ กล่าวคือ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชุมชนมักทำพิธีกรรมสำคัญ การประกาศเขตอนุรักษ์ลำห้วยภูเหม็นจึงถือเป็นหมุดหมายแรกก่อนการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ เช่นเดียวกับ นายอังคาร คลองแห้ง แกนนำผู้ต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินบ้านภูเหม็น ที่ยืนยันว่าการดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมแต่บรรพบุรุษได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงอยู่แล้ว จึงสมควรประกาศพื้นที่เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ และฟื้นฟูวิถีดั้งเดิมที่เสื่อมสลายไปกลับคืนมา
.
ด้าน นายสมบัติ ชูมา ผู้อำนวยการสถาบันธรรมชาติพัฒนา กล่าวว่า การสถาปนาพื้นที่เขตอนุรักษ์ลำน้ำคือการลดความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐ ด้วยการมองด้านแผนงานที่ดีมากกว่าปัญหาในพื้นที่ที่ผ่านมา ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานรัฐในการดูแลจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำนี้ด้วย และจะเป็นหมุดหมายแรกที่จะนำไปสู่การสถาปนาพื้นที่ทั้งหมด 15,000 ไร่ของชุมชนให้เป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ
.
“เราเริ่มจากวันนี้เลยคือลำห้วย ซึ่งเป็นเหมือนชีวิต เหมือนสายเลือดของพี่น้องภูเหม็น ลำห้วยภูเหม็นจะไหลลงมาจากแนวกันชนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แล้วไหลมากลางหมู่บ้าน วันนี้เราอยากร่วมสถาปนาพื้นที่ตรงนี้ ยกระดับความสำคัญของลำห้วยที่เราเคยดูแลไว้ให้ได้รับการดูแลมากกว่าปัจจุบัน เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้นำทางจิตวิญญาณทำพิธีกรรมเพื่อดูแลมานานแล้ว” นายสมบัติกล่าว
.
นายสิทธิพล บุญชูเชิด ผู้แทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี กล่าวว่า พี่น้องกะเหรี่ยงเรารู้สึกว่าไร่หมุนเวียนคือบวรสถาน เป็นแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชนรุ่นใหม่ด้วย นอกจากไร่หมุนเวียนแล้วยังต้องมีการดำเนินวิถีชีวิตหากินของป่า หน่วยงานรัฐควรทำความเข้าใจชุมชนว่าการเก็บหาของป่าเป็นไปตามปรกติธุระ ไม่ใช่เพื่อการค้าขาย ส่วน นางสาวเสอะเยียเบ่อ งามยิ่ง ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เสนอว่า ชุมชนและหน่วยงานรัฐควรมีเวทีได้ตกลงและทำความเข้าใจกันภายใต้การใช้เหตุผล หาทางออกจากความขัดแย้ง แล้วสร้างแนวคิดใหม่ๆ ในการจัดการทรัพยากร เพื่อให้วิถีชีวิตมนุษย์ที่อยู่ในป่ามีความมั่นคงและยั่งยืน
.
ส่วน นายเธียรวิชญ์ มูสิกะวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้อุทัยธานี กล่าวว่า ต่อไปจะมีคณะทำงานซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอของชุมชน เราต้องมาคุยกัน ต้องมาวางกรอบกติกา กฎหมายบางตัวเราละเว้นหรือผ่อนเบาในการปฏิบัติก็ได้ เพราะก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนก็ใช้แนวทางนี้ในการแก้ไขปัญหาให้เรา ตนย้ำว่าการแก้ปัญหาพี่น้องภูเหม็นต้องเป็นในรูปแบบ “คนอยู่ได้ ป่าอยู่รอด สัตว์ป่าปลอดภัย” แผนที่จะเกิดขึ้นทุกกิจกรรมที่สนองต่อสามคำนี้ ตนจะสนับสนุนให้เกิดขึ้นให้ได้ทั้งหมด 
.
นายอภินันท์ ธรรมเสนา ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ส่วนที่ภูเหม็นกำลังทำอยู่คือการสร้างพื้นที่รูปธรรมในการประกาศเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ โดยภูเหม็นจะเป็นพื้นที่นำร่องการจัดการแบบมีส่วนร่วม มีหน่วยงานรัฐมาร่วมในการจัดการด้วย พร้อมย้ำว่า จุดประสงค์ในการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษไม่ใช่การปกครองตนเอง แต่เป็นพื้นที่ที่ชาติพันธุ์สามารถดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 70 และไม่ใช่การประกาศแล้วจบเลย ต้องมีแผนการจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย
.
“หนึ่งคือ รักษามรดกภูมิปัญญาตัวเองให้ได้ ถ้ารักษาไม่ได้จะสูญเสียตัวตน สองคือต้องรักษาทรัพยากรไว้ให้ได้ด้วย ถ้าทำท่องเที่ยว แต่ทำลายทรัพยากรไปเรื่อยๆ คนเข้ามาทำลายทรัพยากรมากขึ้นก็ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายคือเราต้องทำให้ชีวิตเรามีคุณภาพดีขึ้นด้วย สามอันนี้เหมือนเวลาเราตั้งหม้อข้าว ต้องมีหินสามก้อนเส้า นอกจากนั้นให้คิดถึงพื้นที่เราแล้วขยายไปถึงกลุ่มอื่นๆ ให้เป็นเครือข่ายได้ วันนี้เราพูดเรื่องลำน้ำ เรามาคิดถึงเพื่อนๆ ที่อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันไหม เชื่อมโยงกันแล้วไปด้วยกัน ประกาศเป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน” นายอภินันท์กล่าว
.
ชุมชนบ้านภูเหม็นมีจัดการดูแลและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมาณ 15,000 ไร่ ทั้งพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ ต่อมาถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยทับเสลาและป่าห้วยคอกควายในปี 2528 ตามด้วยการประกาศเป็นพื้นที่สวนป่าในปี 2535 หลังจากนั้นเมื่อรัฐบาล คสช. มีนโยบายทวงคืนผืนป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศพื้นที่เป็นเขตวนอุทยานในปี 2557 ทำให้ชุมชนได้รับความเดือดร้อน มีคำสั่งให้อพยพออกจากชุมชนเดิม แม้ชุมชนจะต่อสู้ยืนยันว่าจะอยู่บนผืนดินเดิมนี้ ไม่ขอย้ายออกไปไหน แต่ก็ไม่สามารถดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมได้อย่างปรกติสุข โดยเฉพาะวิถีการทำไร่หมุนเวียนที่ถูกบีบให้ต้องเปลี่ยนเป็นพืชเชิงเดี่ยว 
.
ชุมชนพยายามยื่นเรื่องร้องเรียนไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จึงได้มีการนำมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงมาพูดคุยกัน ผ่านการขับเคลื่อนร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), ภาควิชาการ และภาคประชาชน จนนำมาสู่แผนการที่จะประกาศพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษในเดือนธันวาคมนี้ และร่วมผลักดันให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ต่อไปในวันที่ 8-10 ธันวาคมนี้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!