คณบดีเศรษฐศาสตร์ มธ.แนะรื้อระบบประกันสังคม รับวิกฤตแรงงาน
คณบดีเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุแรงงานไทยไร้เงินออม - หนี้ท่วมหัว หลังโควิดกลับภาคเกษตรมากขึ้นแต่รายได้ต่อหัวต่ำ แนะรัฐเร่งสร้างระบบการออม รวมบัตรทอง-ประกันสังคม
27 ต.ค. 63 - ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณเศรษฐศาสตร์ มธ.กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานมีปัญหาสะสมมาก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ระบาดอยู่แล้ว โดยช่วงกลางปี 2562 จีนกับสหรัฐทำสงครามการค้ามีผลกระทบต่อ Global supply chain พอปี 2563 เกิดโควิด-19 ระบาดซึ่งประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ขณะเดียวกันก็ยังมีปัจจัยเงื่อนไขหลายอย่าง มากที่สุดคือปัญหาด้านโครงสร้างประชากร คนตายน้อยลงแต่คนเกิดก็น้อยลง
ปัจจุบันไทยมีประชากรอยู่จำนวน 38 ล้านคน ซึ่งอยู่ในวัยกำลังแรงงาน ในจำนวนนี้ 37 ล้านคนมีงานทำ แต่ก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้แรงงานบางกลุ่มทำงานไม่ตรงสาย นอกเหนือจากนี้อีก 18 ล้านคนไม่ได้อยู่ในวัยกำลังแรงงาน เป็นเด็ก คนชรา และคนพิการ รวมทั้งสังคมสูงวัยที่กำลังคนจำนวนนี้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมและมีหนี้สินมาก ทำให้ไทยต้องเตรียมพร้อมหามาตรการรองรับ ทั้งในเรื่องของรัฐสวัสดิการ และระบบการออมแบบใหม่
"เวลาเราบอกว่าโควิดกระทบอะไรบ้าง อย่างเช่นกระทบภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ต้องมองในระดับ supply chain ซึ่งตรงนี้ผมเน้นมากเพราะ supply chain ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมันก็จะรวมไปถึงโรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก ขนส่ง ที่กระทบทั้งหมด ขณะเดียวกันโควิตก็กระทบในเรื่องของการส่งออกและก็จะมี supply chain อีกปัจจัยหนึ่งคือ supply chain disruption ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเก่า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเหล่านี้รับผลกระทบอยู่แล้วเต็มๆจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป"
📌ไอแอลโอคาดไทยมีผู้ว่างงานเพิ่ม 6-7%
คณบดีคณเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุว่าเมื่อดูจากสถานการณ์แล้ว คนไทยหากตกงานจะมุ่งไปที่ภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และเป็นประจำทุกปีประเทศไทยมีผู้ว่างงานอยู่ที่ 1% แต่หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตัวเลขกระโดดพุ่งไป ไอแอลโอคาดว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุดจะมีผู้ว่างงานมากถึง 6-7%
"หากวิเคราะห์ดูว่าทำไมประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง จะพบว่าภาคอุตสาหกรรม ทำรายได้ต่อหัวประชากรสูงสุดรองลงมาคือภาคบริการ ในขณะที่ภาคการเกษตรนั้นมีรายได้ต่อหัวต่ำสุด แต่ว่ามีแรงงานอยู่ในภาคนี้มากที่สุด ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การจ้างงานในภาคเกษตรและมีมูลค่าสูงขึ้น"
📌เสนอรวมบริการสุขภาพประกันสังคม-บัตรทอง
ผศ.ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่าถ้ามาดูในด้านของความคุ้มครอง จะพบว่าแรงงานในระบบตามกฎหมายประกันสังคมตามมาตรา 33 39 และ 40 ก็มีอยู่ส่วนหนึ่งแต่ว่าอีก 20 ล้านคนนั้นเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่รับการคุ้มครองในอนาคต อย่างเช่น เงินบำเหน็จบำนาญ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องหนี้สินและการออมควบคู่กันไป ซึ่งในส่วนของระบบประกันสังคม ช่วงที่ผ่านมาที่มีคนตกงานจำนวนมาก เคยมีข้อเสนอว่าให้รวมเรื่องของการบริการสุขภาพไปใช้กับบัตรทอง แล้วเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายให้สมทบกองทุนประกันสังคมเก็บไว้เป็นเงินบำนาญล้วนๆ
แนวโน้มการจ้างงานในอนาคตก็จะเป็นในรูปแบบของพาร์ทไทม์มากขึ้น คนหนึ่งทำงานหลายอย่าง ซึ่งตรงนี้จะทำให้ต้องมาทบทวนในเรื่องของสวัสดิการ ที่ไม่รองรับและพูดไปถึงการปรับตัวของระบบประกันสังคม
กลุ่มแรงงานที่น่าเป็นที่สุดคือกลุ่มเด็กจบใหม่ที่มีอยู่ 4 แสนคนต่อปี ซึ่งใช้เวลางานหางานมากกว่ากลุ่มอื่นๆ กลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมาก ส่วนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถสร้างตำแหน่งงานเพื่อรองรับได้ถึง 70,000 อัตรา ซึ่งเงินจ้างก็เป็บงบประมาณจัดสรรจากรัฐอยู่แล้ว
📌 ชี้เงื่อนไขการจ้างงาน ขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศ
คณบดีคณเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงกรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประเมินสถานการณ์ และแนวโน้มการจ้างงานดีขึ้นว่า เป็นการประเมินในแง่ดี ซึ่งก็อาจจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่าหลังจากคลายล็อกดาวน์ทำให้สถานการณ์การจ้างงานดีขึ้น แต่ก็ยังคงต้องบริหารความเสี่ยง
"ความเสี่ยงใหญ่ๆยังคงเป็นเรื่องของความท้าทาย ในการเข้าตลาดได้ไม่เต็มที่จากบัณฑิตจบใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบแรงงานตลาดแรงงาน และยังต้องหาจุดสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจกับสาธารณสุขให้ได้ เงื่อนไขสำคัญของการจ้างงานยังอยู่ที่การเปิดประเทศ จึงมีข้อเสนอว่าเป็นไปได้ไหมที่จะรับผู้ป่วยต่างชาติมารับการรักษาในประเทศไทยและมูลค่าสูง"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น