10 ชนเผ่าร่วมประเพณีกินข้าวใหม่ ดันร่างพ.ร.บ.ชนเผ่า
ยกระดับ 2 มติครม. ชาวเล - กะเหรี่ยงให้ครอบคลุมทุกชนเผ่าทั่วประเทศ เจาะ 10 กลุ่มชนเผ่าเปราะบางใกล้สูญเสียอัตลักษณ์ 'จุติ' ติง ตั้งกองทุนทำกฎหมายผ่านสภาล่าช้า เพราะเป็นพ.ร.บ.การเงิน
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 63 ที่พิพิธภัณฑ์เรียนรู้ราษฎรบนพื้นที่สูง สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและ วัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย จัดประเพณี กินข้าวใหม่ โดย 10 ชนเผ่า ซึ่งเป็นประเพณีโบราณดั้งเดิมที่มีความคล้ายคลึงกันคือการให้ความสำคัญกับข้าว เป็นหัวใจหลักของชีวิตมเดิมเป็นประเพณีที่จัดในครัวเรือน ปีนี้เป็นครั้งแรกที่สาธิตให้คนภายนอกได้ดู
นายสุพจน์ หลี่จา นายกสมาคมสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ บอกว่า ประเพณีกินข้าวใหม่ เป็นเทศกาลหลังจากเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวแสดงถึงความเป็นสิริมงคลและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมของชนเผ่ากำลังรับการถูกสั่นคลอนจากกฎหมายที่ดินหลายฉบับ ทำให้กลุ่มชาติติพันธ์เหลือที่ทำกินน้อยลงหรือบางคนไม่มีที่ทำกิน
"ที่ดินเป็นส่วนประกอบสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ถ้าไม่มีที่ดิน ก็ไมามีความมั่นคงทางอาหาร ประเพณีข้าวใหม่ สะท้อนความมั่นคงทางอาหารซึ่งเป็นจุดแข็งของกลุ่มชาติติพันธ์ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วงเกิดวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา"
ขณะที่ นายชูพินิจ เกษมณี มูลนิธิเพื่อการประสานความร่วมมือของชนเผ่าพื้นเมืองเอเชีย กล่าวถึงการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ ส่งเสริมและอนุรักษ์วิถีชีวิตชนเผ่าชาติพันธุ์ พ.ศ.... สาระสำคัญคือการยกระดับมติครม 2 มิถุนายน 2553 คุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล และมติครม 3 สิงหาคม 2553 ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ให้ครอบคลุมชนเผ่าที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะการคุ้มครอง 10 กลุ่มชนเผ่าเปราะบางที่ใกล้สูญเสียอัตลักษณ์ เช่นมอร์แกน อุรักลาโว้ย บลาบลี มันนิ เป็นต้น โดยจะมีการตั้งกองทุนเพื่อขับเคลื่อนสภาชนเผ่า เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆในการอนุรักษ์และฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรม ปัจจุบันร่างกม.ดังกล่าว มีความชัดเจนจากทั้งของภาคประชาชนและของศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร ซึ่งเตรียมที่จะหาทางเสนอให้เข้าสู่การพิจารณาในสภาไม่ว่าจะทางจากการล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ หรือการเสนอผ่านพรรคการเมือง ตั้งเป้าว่าปี 2565 ร่างกฎหมายชนเผ่าดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้
ด้าน นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่าเห็นด้วยกับเนื้อหาสาระบางส่วนในร่างพระราชบัญญัติชนเผ่า แต่ต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบ โดยเฉพาะในส่วนของการตั้งกองทุน ซึ่งจะกลายเป็น พ.ร.บ.การเงินที่ต้องพิจารณาโดยละเอียดเพราะปัจจุบัน ทั่วโลกต้องการเงินสด ทุกคนต้องการใช้เงิน การจัดสรรงบประมาณจึงต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อย่างไรก็ตามพร้อมใช้กลไกของกระทรวงทั้งหมดในการพัฒนาและส่งเสริม รักษา ต่อยอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชนเผ่า โดยคำนึงถึงความเป็นชนชาติเดียวกัน และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น