เตรียมรพ.รัฐ-เอกชนกว่า 1,000 แห่งฉีดวัคซีนโควิด-19​ ระยะ​ 1​ ส่วน​ระยะ​ 2​ เล็งฉีดที่​ รพ.สต.

สธ. แจงประชาชนให้มั่นใจระบบบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ครอบคลุม มีระบบติดตามอาการหลังฉีดทาง Line OA “หมอพร้อม” และอสม./เจ้าหน้าที่สธ.เยี่ยมบ้าน

11​ ก.พ.​ 64 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 โดยนายแพทย์โสภณ เมฆธน กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 แก่ประชาชนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยด้วยความสมัครใจ ให้ได้รับวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ขณะนี้ได้จัดหาวัคซีน 2 ชนิด ได้แก่ ชนิด Virus Vector ของบริษัท แอสตราเซนเนกา และชนิดเชื้อตายจากซิโนแวค เป็นเทคโนโลยีเก่าที่คุ้นเคย มั่นใจเรื่องความปลอดภัย 

อย่างไรก็ตามอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนอาจเกิดขึ้นได้ เช่น ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และจากการติดตามผลการฉีดของประเทศต่างๆ ไม่ได้มีอาการที่รุนแรง 

 สำหรับเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิดกับประชาชน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกเมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 และรักษาระบบสุขภาพของประเทศ ฉีดให้กลุ่มผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง มีความเสี่ยงสูง หากติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐเอกชน รวมถึงเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ป่วย เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ ประชาชนและแรงงานในพื้นที่ระบาดของโควิด 19 ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยจะฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไป, ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์, ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน/ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ, นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม, กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1, บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด่านหน้า 

สำหรับกลยุทธ์การบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 มี 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1)การสื่อสารทำความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ ความปลอดภัยของวัคซีน ระบบขั้นตอนในการให้บริการ 

2)การบริการที่มีคุณภาพ รวมถึงระบบการเก็บ ขนส่ง ต้องมีอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส เพื่อให้คงคุณภาพจัดระบบบริการที่ดีที่มีความรวดเร็ว จะฉีดทั่วประเทศให้ได้เดือนละ10 ล้านโดส แล้วเสร็จภายในปี 2564 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 

3)การประกันคุณภาพวัคซีน มีการเฝ้าระวังหลังการฉีด 30 นาที และระบบติดตามอาการข้างเคียงภายหลังได้รับวัคซีนในวันที่ 1, 7, 30 และในระบบ Line Official Account และติดตามด้วย อสม. เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล 

4)​ พัฒนาระบบข้อมูล Line OA “หมอพร้อม” เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับโรงพยาบาล 5.การจัดการ
องค์ความรู้ภายหลังการฉีดวัคซีน ว่าประชาชนมีภูมิต้านทานเพิ่มขึ้นหรือไม่ ป้องกันการป่วย ลดการแพร่โรคหรือไม่

ด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผลการสำรวจทัศนคติ ความเห็นของประชาชน (DDC Poll) ระหว่างวันที่ 26 มกราคม -8 กุมภาพันธ์ 2564 ในกลุ่มเป้าหมาย 2,879 คน พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 70.4 เห็นว่าบุคลากรสาธารณสุขควรได้รับวัคซีนก่อน รองลงมาคือประชาชนทุกคน นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 70 ยังต้องการฉีดวัคซีนแม้ไม่มีรายงานการติดเชื้อ การป่วย และเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 นอกจากนี้ ยังมีประชาชนบางส่วนเห็นว่าเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนเช่นกัน 

แต่เนื่องจากเป็นการฉีดในภาวะฉุกเฉิน ยังไม่มีข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีและหญิงตั้งครรภ์  

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งได้รับขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉิน เพื่อป้องกันควบคุมการระบาดของโควิด 19 ได้เตรียมแผนไว้ 2 ระยะ ระยะที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2564 จำนวน 2 ล้านโดส ให้บริการผ่านสถานบริการทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความพร้อมของแพทย์และห้องฉุกเฉินไว้อย่างเพียงพอ ประมาณ 1,000 แห่ง พร้อมให้การช่วยเหลือในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์หลังจากการได้รับวัคซีน ในพื้นที่จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้ออยู่คือ จ.สมุทรสาคร และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และพื้นที่ที่เคยพบผู้ติดเชื้อมาก่อนหน้าในช่วงเดือนมกราคม ได้แก่ จ.ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งยังพบผู้ติดเชื้อ โดยจะพิจารณาตามลำดับพื้นที่และความสำคัญของการระบาด 

และระยะที่ 2 มิถุนายน – ธันวาคม 2564 จำนวน 61 ล้านโดส อาจเพิ่มบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาดใหญ่บางแห่ง เพื่อฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเร็วขึ้น 
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการให้บริการวัคซีนโควิด 19 เป็นวัคซีนใหม่ บุคลากรทางการแพทย์ต้องผ่านการอบรม เรื่องการฉีดวัคซีน เตรียมระบบบริการ อุปกรณ์การแพทย์ ดูแลหลังการฉีดใกล้ชิด ประชาชนที่มารับบริการต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด สังเกตอาการภายหลังได้รับวัคซีนตามเวลาที่กำหนด เป็นเวลา 30 นาที และติดตามจนครบ 1 เดือนขอให้ประชาชนมั่นใจว่าระบบการให้วัคซีนโควิด 19 ที่เตรียมไว้ มีความปลอดภัย ประชาชนได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!