"บิ๊กตู่" ดับฝัน! พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชน
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ แถลงการณ์ หน้าทำเนียบรัฐบาล ระบุ
นับตั้งแต่ประชาชน 13,246 รายชื่อยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อประธานรัฐสภา ตั้งแต่ 6 พฤศจิกายน 2562 แล้วประธานรัฐสภาวินิจฉัยว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน จึงส่งร่างฯ ฉบับนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อให้การรับรอง จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 15 เดือนแล้ว กระทั่งเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 นายกรัฐมนตรีมีความเห็นอย่างเป็นทางการว่าไม่รับรองร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชนให้เข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา
เป็นเวลากว่า 10 ปีที่รัฐจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เน้นการสงเคราะห์ด้วยอัตราเบี้ยที่ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ในขณะที่ประเทศก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ แต่รัฐกลับละเลยที่จะสร้างสวัสดิภาพให้กับประชาชน ด้วยการมีหลักประกันทางรายได้ที่เพียงพอและเท่าเทียม
การที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปฏิเสธให้การรับรองร่างกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชนครั้งนี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเสนอกฎหมายของประชาชนเป็นเพียงข้ออ้างให้รัฐสร้างความชอบธรรมที่จะเมินเฉยต่อกระบวนการมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าประชาชนจะใช้สิทธิภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ แต่ไม่อาจฝ่าฟันซึ่งอำนาจของบุคคลเพียงคนเดียวได้ เพราะการไม่รับรองกฎหมายของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นการตัดสินใจของบุคคลเพียงคนเดียวต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกว่า 70 ล้านคน ซึ่งถือได้ว่าไม่ชอบธรรม แม้อ้างเหตุผลว่าตัดสินใจบนฐานความเห็นจากหน่วยงานราชการทั้ง 7 หน่วยงาน แต่ไร้ซึ่งเสียงของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียกับร่างกฎหมายฉบับนี้
หากนายกรัฐมนตรีเคารพในหลักการตามครรลองของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว ควรเสนอกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันลงมือร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภา อันสะท้อนถึงตัวแทนของประชาชนที่ได้เลือกสรรมา มากกว่าการมีบัญชาไม่รับรองร่างกฎหมาย
พวกเรา ประชาชนทั้งหลาย ที่ร่วมกันลงลายมือชื่อทั้ง 13,246 รายชื่อนี้ ขอประณามกระบวนการของรัฐราชการ ที่ไร้ซึ่งสำนึกของความเป็นประชาธิปไตย ในการปัดตกกฎหมายที่ประชาชนใช้สิทธิทางประชาธิปไตยเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ซึ่งการปฏิเสธที่จะพิจารณากฎหมายของประชาชนโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งข้าราชการและหน่วยงานที่ให้ความเห็น คือการใช้อำนาจที่เป็นของประชาชนมาลิดรอนสิทธิของประชาชน ถือเป็นความอัปยศอย่างรุนแรงที่นักการเมืองและข้าราชการกระทำต่อประชาชน เพราะได้ทำลายกระบวนการประชาธิปไตยที่ชอบธรรมออกไปจากสังคมไทยแล้ว
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เครือข่ายองค์กร และประชาชนตามรายชื่อด้านล่างนี้ ขอประณามและคัดค้านต่อการบัญชาของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมทั้งหน่วยงานราชการทั้ง 7 องค์กรที่ไม่เห็นด้วยและปัดตกร่างกฎหมายของประชาชนครั้งนี้
"เราขอยืนยันว่า การเสนอกฎหมายโดยประชาชนเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวไม่ควรใช้สิทธิเหนือกว่ามาตัดสินข้อเสนอของประชาชน แต่ต้องสร้างความชอบธรรมด้วยการเสนอความเห็นและนำกฎหมายของประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาที่ได้ชื่อว่ามาจากประชาชน การปัดตกกฎหมายย่อมถือได้ว่าเป็นการปฏิเสธความเห็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ
สุดท้ายนี้ เราขอเรียกร้องให้พี่น้องประชาชนทั้งประเทศจับตามองและส่งเสียงถึงนายกรัฐมนตรีให้นำร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชนกลับมาพิจารณาใหม่โดยเร็ว"
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น