สธ.ใช้ “ปทุมธานีโมเดล” คุมโควิดคลัสเตอร์ตลาดบางแค - กทม.ลุยฉีดวัคซีนพรุ่งนี้ (17 มี.ค. 64)
ปิดตลาดทำความสะอาด ปรับปรุงสุขาภิบาล ตรวจหาเชื้อโควิด ฉีดวัคซีนผู้ค้าและแรงงาน ออกใบรับรองเข้าออกตลาด หากพบเชื้อนำเข้ารักษา แยกกักผู้สัมผัส ค้นหาเชิงรุกชุมชนโดยรอบ 1 สัปดาห์
เมื่อ 16 มี.ค. 64 ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน
กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 และการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 149 ราย มาจากระบบบริการในโรงพยาบาล 21 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 123 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 5 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต รักษาหายเพิ่มขึ้น 65 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 22,917 ราย รักษาหายสะสม 22,122 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.53 อยู่ระหว่างการรักษา 768 ราย และเสียชีวิตสะสม 27 ราย ทั้งนี้ การติดเชื้อภายในประเทศวันนี้กระจายใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 100 ราย สมุทรสาคร 34 ราย ปทุมธานี 4 ราย นครปฐม 3 ราย ราชบุรี 1 ราย และเพชรบุรี 1 รายสำหรับแนวทางการควบคุมโรคหลังพบการติดเชื้อบริเวณตลาดย่านบางแค ขณะนี้สำนักงานเขตได้ดำเนินการปิดตลาด 6 แห่งที่เชื่อมต่อกัน ได้แก่ ตลาดใหม่บางแค ตลาดแสงฟ้า ตลาดศิริเศรษฐนนท์ ตลาดวันเดอร์ ตลาดกิตติ และตลาดบางแค เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 16-18 มีนาคม 2564 เพื่อทำความสะอาดและปรับปรุงสุขาภิบาล รวมทั้งจัดระเบียบการเข้าตลาด ซึ่งอาศัยโมเดลของ จ.ปทุมธานี คือ ตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด ฉีดวัคซีนแก่ผู้ค้าและแรงงานก่อนเปิดตลาด ออกใบรับรองเข้าออกตลาดโดยสำนักงานเขต หากตรวจพบเชื้อให้นำเข้ารักษาและแยกกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทำความสะอาดจัดการสุขาภิบาลตลาด ค้นหาเชิงรุกในชุมชนหลังตลาดย่านบางแคและชุมชนตรงข้ามตลาดบางแค 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นสุ่มตรวจเดือนละ 1 ครั้ง เจาะเลือดเฉพาะผู้สัมผัสร่วมบ้านผู้ติดเชื้อ และติดตามแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ ส่วนการขยายเวลาปิดตลาดเพิ่มเติมอยู่ที่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ตลาดย่านบางแค แต่ทีมสอบสวนโรคยังคงทำงานในด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีปทุมธานี แม้สถานการณ์จะเบาบางลง อ.แม่สอด และจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีการลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมาย รวมถึงยังมีการคัดกรองเชิงรุกในชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ส่วนความก้าวหน้าการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2564 ฉีดแล้ว 50,388 คน คิดเป็นร้อยละ 54 ของเป้าหมายการฉีดวัคซีนเข็มแรก โดยมี 9 จังหวดที่ดำเนินการฉีดได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือ เชียงใหม่ ตาก สมุทรสงคราม ราชบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ส่วนที่ใกล้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือ นนทบุรีและปทุมธานี เหลือสมุทรสาครที่มีแล้วมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และกรุงเทพมหานครที่กำลังเร่งการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่
สำหรับวันนี้มีการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าให้แก่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และอาจารย์แพทย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน เนื่องจากมีความชัดเจนแล้วว่า อาการลิ่มเลือดอุดตันไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน ซึ่งองค์การอนามัยโลกให้การยอมรับ โดยหลังรับวัคซีนเข็มแรก 22 วัน จะสามารถป้องกันอาการรุนแรงจากโรคโควิด 19 จนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลรวมถึงป้องกันการเสียชีวิตได้ ป้องกันอาการป่วยจากโควิดร้อยละ 76 ยาวนานอย่างน้อย 90 วัน และมีประสิทธิผลสูงขึ้นเป็นร้อยละ 81.39 เมื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในระยะห่าง 12 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาล่าสุดในอังกฤษพบว่า ในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป สามารถลดอาการป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้มากถึงร้อยละ 80 หลังจากการฉีดเข็มแรก
แม้จะมีการฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว แต่ก็ยังต้องคงมาตรการป้องกันโรคที่เคยทำกันมา ทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง เพราะเห็นได้จากหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ที่แม้จะมีการฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้วก็ยังมีพบการติดเชื้อวันละเกือบ 400 ราย ยอดสะสมประมาณ 9.6 หมื่นราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 6 ราย หรืออย่างอิตาลีก็เตรียมล็อกดาวน์ทั่วประเทศช่วงอีสเตอร์ แม้ยุโรปจะมีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรค่อนข้างมาก แต่ก็อาจมีการระบาดระลอกใหม่ ดังนั้น การ์ดอย่าตกจึงมีความสำคัญ
กทม.ส่งรถ Mobile Unit ฉีดวัคซีนเชิงรุกที่ตลาดบางแค
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีน ซึ่งกลุ่มแรกที่ได้ฉีด เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งฉีดครบ 100% แล้ว และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ฉีดได้ตามเป้าหมายเกือบ 100% สำหรับในสัปดาห์นี้เริ่มฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตหากติดเชื้อ
โดยที่ประชุมวันนี้ได้ร่วมหารือกันประเด็นหลัก 3 ประเด็น ประกอบด้วย
ประเด็นที่ 1 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้อนุมัติปรับแผนการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมาย 3 ข้อ ได้แก่
1.จากเดิม ฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลพื้นที่เสี่ยงตดกับจ.สมุทรสาคร 6 เขต และมีอายุ 50 - 59 ปี 10 เดือน ขยายให้แก่ประชาชนกลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลพื้นที่เสี่ยงติดกับจ.สมุทรสาคร 6 เขต และมีอายุ 18 - 59 ปี 10 เดือน
2.จากเดิม ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงติดกับจ.สมุทรสาคร 6 เขต ขยายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ทั้ง 50 เขต
3.ฉีดให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็ว อย่างเช่น ที่ตลาดในพื้นที่เขตบางแค จะฉีดให้กับผู้ค้าและแรงงานในตลาด
ประเด็นที่ 2 การฉีดวัคซีนให้กับผู้ค้าและแรงงานในตลาดพื้นที่เขตบางแค
กรุงเทพมหานครและภาคีเครือข่ายพร้อมให้บริการฉีดวัคซีน ณ สถานพยาบาลที่กำหนด รวมทั้งผู้ที่ไม่สะดวกในการเดินทาง หรือหากเดินทางแล้วจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ สามารถรับบริการฉีดวัคซีนโดยหน่วยบริการเคลื่อนที่ Mobile Unit ซึ่งจะออกให้บริการ ณ ตลาดบางแค ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.) เป็นต้นไป
สำหรับประเด็นที่ 3 ในสัปดาห์หน้ากรุงเทพมหานครจะได้รับวัคซีน Sinovac เพิ่มอีก 240,000 โดส หรือสามารถฉีดให้ประชาชนได้จำนวน 120,000 คน ที่ประชุมได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกสังกัดที่อยู่นอกเหนือจาก 6 เขตเสี่ยง เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง
สำหรับขั้นตอนการคัดกรองเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน ประกอบด้วย ก่อนการเข้ารับการฉีดวัคซีนทุกคนต้องวัดไข้ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ จากนั้น ขั้นตอน ที่ 1 ตรวจสอบสิทธิและกรอกประวัติข้อมูลในเอกสารแสดงความยินยอม ขั้นตอนที่ 2 เป็นการลงทะเบียน(ทำบัตร) เพื่อยืนยันตัวตน ขั้นตอนที่ 3 ชั่งน้ำหนัก วัดไข้ วัดความดันโลหิต ซึ่งหากไม่ผ่านเกณฑ์จะไม่สามารถรับบริการวัคซีนได้ ขั้นตอนที่ 4 ให้คำปรึกษา แนะนำและลงนามในใบยินยอมการรับวัคซีน ขั้นตอนที่ 5 เข้ารับการฉีดวัคซีน จากนั้นขั้นตอนที่ 6 จะให้ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนทุกรายนั่งพักรอสังเกตอาการจนครบ 30 นาที โดยได้จัดให้มีพื้นที่ปฐมพยาบาล แพทย์ พยาบาล และอุปกรณ์ช่วยชีวิตสำหรับการดูแลผู้ที่อาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีน และมีการแนะนำวิธีการใช้ Line Official Account “หมอพร้อม” เพื่อติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน 30 วัน และรับการแจ้งเตือนเพื่อฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ขั้นตอนที่ 7 จุดตรวจสอบก่อนกลับ เจ้าหน้าที่จะสอบถามอาการ ให้คำแนะนำ และออกใบนัดการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 พร้อมรับเอกสารคำแนะนำการปฏิบัติตัวหลังการฉีดวัคซีน พร้อมกับประเมินการเฝ้าระวังและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ของวัคซีนที่อาจเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ในวันแรกของการฉีดวัคซีน ณ ตลาดบางแค คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ประมาณ 500-600 คน และจะให้บริการต่อเนื่องจนกว่าจะครบ 6,000 คน อย่างไรก็ตามการให้บริการวัคซีนเป็นเพียงการสร้างภูมิคุ้มกันเท่านั้น ขอให้ประชาชนทุกคนยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนด อาทิ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การวัดอุณหภูมิ และลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะทุกครั้งเมื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างเคร่งครัด
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น