แจงแนวทางกระจายวัคซีนล็อตใหม่ 8 แสนโดส

สธ.เผยมีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 5,862 ราย เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ส่วนวัคซีนล็อตใหม่ 8 แสนโดส กระจายให้​ 3 พื้นที่ 22 จังหวัด เหลือสำรองให้จังหวัดที่มีการระบาด

เมื่อวันที่​ 24 มีนาคม 64 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 23 มีนาคม 2564 
ฉีดวัคซีนไปแล้ว 102,050 โดส แบ่งเป็นผู้รับวัคซีนเข็มแรก 96,188 ราย และรับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 5,862 ราย ทั้งนี้ผู้ที่รับวัคซีนเข็มแรกแล้วขอให้ไปรับวัคซีนเข็มที่ 2 ตามนัด เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ โดยวัคซีนจะช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต แต่ยังมีโอกาสติดเชื้อได้ หากประมาทและการ์ดตก ดังนั้น
ผู้ที่รับวัคซีนแล้วขอให้คงการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ลดความแออัด และล้างมือบ่อยๆ 

 “ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนจะได้เอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด 19 ที่มีรายละเอียดของบุคคล วันที่ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 รายชื่อผู้ที่รับรองการฉีดวัคซีน โดยจะมีคิวอาร์โคดสแกนเพื่อแสดงข้อมูลทางดิจิทัลได้ด้วย นอกจากนี้ ยังให้ใบรับรองดิจิทัลผ่านไลน์หมอพร้อมด้วย กรณีเดินทางระหว่างประเทศก็สามารถใช้เป็นเอกสารเริ่มต้นในการทำเอกสารรับรองการเดินทางระหว่างประเทศ ส่วนสมุดเล่มเหลืองหรือวัคซีนพาสปอร์ตต้องรอ​การตกลงร่วมกันกับประเทศปลายทางหรือตกลงร่วมกันในหลายประเทศผ่านองค์การอนามัยโลกหรือสมาคมขนส่งทางอากาศ”

ส่วนวัคซีนโควิด 19 ล็อตใหม่ที่ได้รับล่าสุดจำนวน 8 แสนโดสอยู่ระหว่างการตรวจรับรองรุ่นการผลิต จากนั้นองค์การเภสัชกรรมจะส่งมอบให้แก่กรมควบคุมโรค เพื่อจัดสรรและกระจายไปยังพื้นที่เป้าหมายต่อไป โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ได้เห็นชอบแผนการจัดสรรและการกระจายวัคซีนใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ควบคุมการระบาด 6 จังหวัด, พื้นที่ท่องเที่ยว 8 จังหวัด และพื้นที่ชายแดน 8 จังหวัด รวม 22 จังหวัด จำนวน 5.9 แสนโดส ทั้งนี้ จังหวัดที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนเป็นครั้งแรกขอให้เน้นการฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ รวมทั้งประชาชนกลุ่มเสี่ยงเป็นลำดับแรก

ส่วนวัคซีนที่เหลืออีก 2.1 แสนโดส จะให้กับบุคลากรสาธารณสุข อสม. และเจ้าหน้าที่กลุ่มอื่นๆ ที่จำเป็นในจังหวัดอื่นนอกเหนือจาก 22 จังหวัดนี้ เนื่องจากมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 เช่นกัน หรือเป็นจังหวัดที่ไม่มีการระบาดแต่รับส่งต่อผู้ป่วยมาจากจังหวัดที่มีการระบาด หรือรักษาผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น เช่น ศรีสะเกษ และมุกดาหาร ที่มีผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากจังหวัดที่พบการระบาดกลับภูมิลำเนา แพทย์ พยาบาลที่ดูแลรักษา​ ก็มีโอกาสเสี่ยงได้ จึงได้รับการจัดสรรวัคซีนด้วย รวมถึงผู้ที่มีความจำเป็นในการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักการทูตไทยที่เดินทางไปประจำการในต่างประเทศ นักกีฬาทีมชาติไทยที่จะไปแข่งในต่างประเทศ หรือ
กลุ่มอื่นๆ ที่มีภารกิจเดินทางระหว่างประเทศและปลายทางกำหนดให้มีการฉีดวัคซีนโควิด 19 นอกจากนี้ ยังเตรียมไว้สำหรับการควบคุมการระบาดในจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจาก 22 จังหวัด จะได้มีวัคซีนใช้
ในการควบคุมจำกัดการแพร่ระบาด


คนกรุงฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วรวม 31,045 คน

เมื่อวันที่​ 24 มี.ค. 64​ นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยวันที่ 23 มี.ค. 64 ให้บริการฉีดวัคซีนรวม 7,813 คน รวมยอดสะสมผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1-23 มี.ค. 64 รวมทั้งสิ้น 31,045 คน ประกอบด้วย กลุ่มบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยง 6 เขตติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางขุนเทียน เขตบางแค เขตบางบอน เขตภาษีเจริญ และเขตหนองแขม รวมทั้งบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลนอกพื้นที่เสี่ยง 6 เขตข้างต้น กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขด่านหน้าอื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มที่ 3 ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคในพื้นที่เสี่ยง 6 เขต ที่มีอายุ 18 – 59 ปี 10 เดือน และกลุ่มที่ 4 ประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยง 6 เขต รวมถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงย่านตลาดบางแค ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา (บ้านบางแค 1 และบ้านบางแค 2) ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ไปให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca ที่ได้รับการจัดสรรพิเศษสำหรับผู้สูงอายุในบ้านพักคนชราทั้ง 2 แห่งนี้ 

 สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 6 เขตข้างต้น ที่มีความประสงค์จะรับการฉีดวัคซีน สมัครและเลือกโรงพยาบาลที่จะขอรับการฉีดวัคซีนที่ปรากฏในระบบ เลือกวัน เวลา ที่โรงพยาบาลได้เปิดให้มีการจองสิทธิ์ สำหรับประชาชนไม่มีโทรศัพท์ smart phone สามารถใช้ smart phone หรืออุปกรณ์ในลักษณะเดียวกันของบุคคลในครอบครัว หรือขอความช่วยเหลือการลงทะเบียนที่สถานพยาบาลในพื้นที่ 6 เขตข้างต้น รวมทั้งสิ้น 23 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 16 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ 7 แห่ง ดังนี้ 1. โรงพยาบาลบางขุนเทียน 1 2. โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล 3. โรงพยาบาลบางมด 4. โรงพยาบาลพีเอ็มจี 5. โรงพยาบาลนครธน 6. โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 7. โรงพยาบาลเกษมราษฎร์บางแค 8. โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 9. โรงพยาบาลบุญญาเวช 10. โรงพยาบาลบางปะกอก 8 11. โรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ 12. โรงพยาบาลบางไผ่ 13. โรงพยาบาลมิตรประชา (เพชรเกษม 2) 14. โรงพยาบาลพญาไท 3 15. โรงพยาบาลวิชัยเวชอินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม 16. โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ 17. ศูนย์บริการสาธารณสุข 29 18. ศูนย์บริการสาธารณสุข 40 19. ศูนย์บริการสาธารณสุข 42 20. ศูนย์บริการสาธารณสุข 47 21. ศูนย์บริการสาธารณสุข 48 22. ศูนย์บริการสาธารณสุข 62 และ 23. ศูนย์บริการสาธารณสุข 65 ทั้งนี้ขอเชิญชวนประชาชนที่มีคุณสมบัติข้างต้นไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อันเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นการลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยของโรคโควิด-19 หากผู้ได้รับการฉีดวัคซีนได้รับเชื้อดังกล่าวด้วย

อย่างไรก็ดี ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (D-M-H-T-T) อย่างเคร่งครัด ได้แก่ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกบ้านหรืออยู่ในพื้นที่สาธารณะ ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ และใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เมื่อเข้าใช้บริการในสถานที่ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อันเป็นการสร้างความปลอดภัยให้แก่ประชาชนต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!