เช็คประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ในไทย สู้ไวรัสกลายพันธุ์
“นพ.มานพ” ชี้ สายพันธ์ุอินเดียระบาดไวแต่ซิโนแวค-แอสตราฯ ยังเอาอยู่ ห่วงสายพันธุ์แอฟริกาใต้หลบภูมิวัคซีน ด้าน “ดร.อนันต์” เผยภูมิคุมกันหมู่เกิดยาก ระบุเข็ม 2 ฉีดต่างยี่ห้อได้
สายพันธุ์ดั้งเดิมของโควิด-19 พบที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เรียกว่า สายพันธุ์ D614 ต่อมา กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ G614 หรือ “สายพันธุ์ G” ในเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เดือนกันยายน 2563 เริ่มพบโควิด-19 สายพันธุ์ B1.1.7 ในประเทศอังกฤษ หรือที่เรียกว่า “สายพันธุ์อังกฤษ” แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ G
เดิมการระบาดในประเทศไทยทั้งระลอก 1 และ 2 เป็น “สายพันธุ์ G” แต่ในที่สุดการระบาดระลอก 3 ที่เริ่มต้นเดือนเมษายน 2564 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากกว่าทุกระลอกเป็น “สายพันธุ์อังกฤษ” ที่คาดว่ามาจากคลัสเตอร์ทองหล่อ หรือหลุดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
ต่อมา 20 พฤษภาคม 2564 ตรวจพบโควิด-19 “สายพันธุ์อินเดีย” เป็นครั้งแรกในแคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ ไล่เรี่ยกันวันที่ 22 พฤษภาคม 2564 พบ “สายพันธุ์แอฟริกาใต้” ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส จึงนำมาซึ่งความกังวลว่าสายพันธุ์ใหม่ทั้ง 2 สายพันธุ์ จะรุนแรงกว่าสายอังกฤษที่ระบาดหลักอยู่ในตอนนี้ และวัคซีนที่ไทยมีอยู่จะรับมือได้หรือไม่
“สายพันธ์อินเดีย” VS “สายแอฟริกา” ใครน่ากังวลมากกว่า
“ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา” นักวิจัยด้านไวรัสวิทยาไบโอเทค-สวทช. กล่าวผ่านรายการ Active Talk ทางเฟซบุ๊คไลฟ์ วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ไม่น่ากังวลเท่าสายพันธุ์อินเดีย ที่แพร่ได้เร็วกว่าและตอบได้ยากว่าวัคซีนซิโนแวคจะสามารถรับมือกับสายพันธุ์อินเดียได้มากน้อยแค่ไหน เพราะงานวิจัยเพราะประเทศที่ใช้วัคซีนซิโนแวค เช่น ประเทศจีน ยังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์อินเดีย ในขณะที่วัคซีนแอสตราเซเนกาสามารถรับมือกับสายพันธุ์อินเดียได้แน่นอน 33% แต่ประเทศอังกฤษก็จะมีวัคซีนไฟเซอร์ ที่รับมือกับสายพันธุ์อินเดียได้
“สายพันธุ์ใดจะกลายมาเป็นสายพันธุ์ระบาดหลักขึ้นอยู่กับว่ามีความสามารถในการแพร่กระจายรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน สายพันธุ์อินเดียสามารถกระจายได้เร็วอนาคตก็อาจจะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษ และในขณะที่แอฟริกามีอัตราการแพร่เชื้อต่ำ”
ยกตัวอย่างประเทศอินเดีย ตอนแรกเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ระหว่างนั้นก็มีสายพันธุ์แอฟริกาเข้ามาแพร่ระบาดแต่ก็ ไม่สามารถที่จะสู้การระบาดของสายพันธุ์อินเดียได้ซึ่งแพร่ได้เร็วกว่า แต่ถ้าพูดถึงความรุนแรงต้องบอกว่าไม่มีสายพันธุ์ใดที่รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์อื่น สายพันธุ์แอฟริกาก็ไม่ได้หมายความว่าจะป่วยมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษหรือสายพันธุ์อินเดีย
สอดคล้องกับ “ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร” หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า จำนวนคนเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับว่าระบบสาธารณสุขรองรับได้มากน้อยแค่ไหน ปัจจัยด้านการระบาดมีความน่ากลัวกว่าปัจจัยด้านสายพันธุ์
แต่ “ศ.นพ.มานพ” เป็นห่วงสายพันธุ์แอฟริกามากกว่าสายพันธุ์อินเดีย เพราะวัคซีนที่ไทยมีอยู่ทั้งซิโนแวค และแอสตราเซนกาไม่สามารถรับมือได้ ขณะที่สายพันธุ์อินเดียน่าเชื่อว่าฉีดซิโนแวค 2 เข็มยังพอสร้างภูมิคุ้มกันได้ เช่นเดียวกับวัคซีนแอสตราเซเนกา
“ถ้าปัจจุบันไทยยังไม่มีวัคซีนที่จะป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ สามารถกระจายวัคซีนไปในวงกว้างจะสามารถกดการระบาดได้ และจะอย่างไรก็ตามยังมองว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็อาจจะมีสัดส่วนได้มากขึ้น เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีไม่สามารถเอาอยู่”
แต่ “ดร.อนันต์” ยังมองว่า ประเทศอังกฤษก็สามารถรับมือกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ ซึ่งใช้วัคซีนแอสตราเซเนการเป็นหลัก สัดส่วนของสายพันธุ์แอฟริกาใต้มีเพียง 1% ไม่อยากให้ยึดติดกับตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าถึงแม้ที่แม้จะบอกว่ารับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 10.8% แต่จะอาจมีอะไรมากกว่านั้น
ขณะที่ “ศ.นพ.มานพ” ระบุว่า ประเทศอังกฤษก็ใช้วัคซีนไฟเซอร์คู่ไปกับแอสตราเซเนกา ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง แม้ว่าไวรัสสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จะหยุดลอดออกมาจากคนที่ฉีดแอสตราเซเนกา แต่อาจจะไปหยุดระบาดที่คนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ยากที่จะระบุผลของแอสตราเซเนกากับสายพันธุ์แอฟริกาใต้
“ภูมิคุ้มกันหมู่” เกิดยากเพราะวัคซีนไม่ 100%
รัฐบาลสื่อสารโดยตลอดว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ 70% ภายในสิ้นปี 2564 เอาเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากการฉีดวัคซีนประชากร 5 ล้านคนครอบคลุม 70 %ให้ได้ภายใน 2 เดือน “ศ.นพ.มานพ” กล่าวว่าแท้จริงแล้วภูมิคุ้มกันหมู่ อาจจะเป็นสิ่งสมมุติเราต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะเกิดขึ้นจริงๆ เพราะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ประชากร 70% นั้นอยู่บนสมมติฐานว่าวัคซีนต้องได้ประสิทธิภาพ 100% ซึ่งความเป็นจริงตอนนี้วัคซีนยังไม่มีประสิทธิภาพถึง 100% ประเด็นต่อมาคือความหลากหลายของวัคซีน ที่มีในประเทศไทยมีมากพอหรือไม่ ด้านการฉีดรวดเร็วมากน้อยแค่ไหน
“ดร.อนันต์” ก็เห็นสอดคล้องกันว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นได้ ประการแรก ก็อยู่บนสมมติฐานว่าจะต้องวัคซีนต้องมีประสิทธิภาพ 100% ประการต่อมาคือการกลายพันธุ์ของไวรัส ที่จะต้องพิจารณาถึงค่า R หรือการแพร่กระจายจากคนหนึ่งคนไปอีกกี่คน ซึ่งวัคซีนที่มาช้ากว่าก็ควบคุมโรคได้ช้า
“กรุงเทพมหานครที่ตั้งเป้าจะสร้างภูมิคุ้มกันอยู่ภายใน 2 เดือนไม่มีทางเกิดขึ้นจริง และปัจจุบันนี้ก็มีโรคหลายโรคที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ อย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่ ก็ยังมีการฉีดวัคซีนแล้วก็สายพันธุ์ไข้หวัดใหญ่ ก็ยังพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง”
ดร.อนันต์ กล่าวต่ออีกว่า ประเด็นวัคซีนสามารถที่จะยกระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น โดยใช้วัคซีนที่มีอยู่อย่างเช่น ซิโนแวคอาจจะต้องฉีดเข็ม 1 เข็ม 2 ตามด้วยเข็ม 3 ก็จะทำให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มระดับมากขึ้นจนสามารถที่จะป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาหรืออินเดียได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกและทิ้งระยะไปนาน เพราะแทบที่จะไม่กระตุ้นเกิดภูมิคุ้มกัน (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพวัคซีน) จำเป็นจะต้องฉีดอีกเข็มเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น
เผยสามารถฉีดวัคซีนข้ามยี่ห้อได้
“ศ.นพ.มานพ”กล่าวว่าการปูพรมฉีดเข็มแรกอาจสามารถหยุดการระบาดในบริบทของการระบาดในสายพันธุ์อังกฤษ การฉีดวัคซีนเข็มแรกที่มีประสิทธิภาพดี ย้ำว่ามีประสิทธิภาพดี ก็จะสามารถสกัดการระบาดได้โดยเข็ม 2 อาจจะยืดระยะเวลาฉีดอีก 3-4 เดือนจากเดิมที่ต้องฉีดใน 2-3 สัปดาห์ ขณะเดียวกันหากเป็นสายพันธุ์อินเดีย เข็มแรกหลังฉีดไปแล้วเข็มที่ 2 อาจจะต้องตามภายใน 1-2 เดือนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงมากพอที่จะรับมือสายพันธุ์อินเดีย แต่ปัจจุบันจำนวนวัคซีนที่มีไม่มากพอ
ขณะที่ “ดร. อนันต์” กล่าวว่า ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าสายพันธุ์อินเดียจำกัดอยู่ในวงแคบ แคมป์คนงานก่อสร้างจริงหรือไม่ เพราะกว่าจะถอดรหัสพันธุกรรมก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร การฉีดวัคซีนไม่จำเป็นจะต้องฉีดยี่ห้อเดียวกันทั้งหมด สามารถฉีดต่างยี่ห้อได้ในเข็ม 2 และเข็ม 3 เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ดีมากขึ้น
“ศ.นพ.มานพ” เห็นสอดคล้องกันว่าบนหลักการแล้ว สามารถฉีดต่างยี่ห้อกันได้ มีตัวอย่างงานวิจัยจากประเทศสเปนที่ฉีดแอสตราเซเนกาเข็มแรก แล้วยกเลิกวัคซีนเปลี่ยนมาฉีดไฟเซอร์เป็นเข็ม 2 ก็สามารถทำได้และให้ผลดี แต่ก็ต้องยอมรับว่าวัคซีนซิโนแวคเข็มหนึ่ง แทบไม่กระตุ้นภูมิคุ้มกันเลย จำเป็นต้องฉีด 2 เข็มให้ครบ แล้วจึงไปฉีดต่างยี่ห้ออีกเข็มหนึ่งเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
อย่างไรก็ตามไม่อยากให้ไปกังวลกับรายชื่อวัคซีนขององค์การอนามัยโลก ที่แม้จะไม่ปรากฎวัคซีนซิโนแวค แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป้าหมายในการระบุรายชื่อวัคซีนขององค์การอนามัยโลกเพื่อที่จะเข้าร่วมโครงการ COVAX และเป็นไกด์ไลน์ให้กับประเทศเล็กๆนำข้อมูลไปพิจารณา ในขณะที่ประเทศไทยมีระบบการอนุมัติยาอย่างดีก็สามารถมั่นใจได้ รายชื่อวัคซีนที่ปรากฏขององค์การอนามัยโลกส่งด้านความมั่นใจเท่านั้น
ทั้งนี้ ซิโนแวค เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อตาย จึงไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีเท่าที่ควร จึงต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม ขณะที่แอสตราเซเนกาฉีดเข็มเดียวก็สามารถที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ แต่ก็ยังแนะนำให้ฉีดหากมีโอกาสได้ฉีดเพราะดีกว่าไม่มีอะไรป้องกันเลย ส่วนกรณีฉีดซิโนแวคแล้วไม่สามารถเดินทางไปหลายประเทศโซนยุโรได้ ไม่เป็นความจริงยังสามารถเดินทางได้ตามปกติถ้ามีวีซ่าและไม่ติดแบล็คลิส เพียงแต่ต้องมีกระบวนการจากตรวจเชื้อ และกักตัวอยู่มที่บ้าน แต่หากฉีดวัคซีนที่ประเทศปลายทางรับรองก็อาจจะไม่ต้องมีกระบวนการดังกล่าว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น