ระดมแพทย์ชนบทเข้ากรุง ตรวจโควิด-19 เชิงรุกกว่า 30 ชุมชน
สปสช.ดึงแพทย์ต่างจังหวัดหลายส่วน ช่วยตรวจเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit รู้ผลใน 30 นาทีให้มากที่สุด “กลุ่มแพทย์ชนบท” ตั้งเป้าตรวจ 3 วันประมาณ20,000-30,000 ราย หากมีเชื้อให้เข้าสู่การกักตัวที่บ้านหรือกักในชุมชน
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.64 “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. ได้ร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสท์ คิท (Antigen Test Kit) เพื่อให้สามารถตรวจได้จำนวนมาก รู้ผลเร็ว ทำให้สามารถค้นหาและรีบนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชนหรือแบบ Home isolation และ Community Isolation โดยเร็วที่สุด
ล่าสุด สปสช.ยังได้ร่วมมือกับชมรมแพทย์ชนบทในการระดมทีมบุคลากรทางการแพทย์จากจังหวัดต่างๆเข้ามาร่วมตรวจเชิงรุก โดยในส่วนของชมรมแพทย์ชนบทจะเข้าไปตรวจเชิงรุกในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ กทม.ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค. 2564 รวมทั้งหมดกว่า 30 ชุมชน
“นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การตรวจโควิด-19 เชิงรุก 3 วันครั้งนี้คาดว่าจะสามารถตรวจโควิดได้ประมาณ 20,000-30,000 ราย เป้าหมายเพื่อให้แต่ละคนจัดการตนเองได้เหมาะสม หากมีเชื้อก็เข้าสู่การกักตัวที่บ้านหรือกักในชุมชน หากไม่พบเชื้อก็จะได้กักตัวเองและลดกิจกรรมต่างๆ ลง โดยทีมชุดแรกที่มาปฏิบัติการครั้งนี้ 6 สาย จำนวน 60 คนประกอบด้วย ทีมจากนครศรีธรรมราช, ขอนแก่น, รพ.จะนะ, รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จ.สงขลา, รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส, รพ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี และ รพ.บ่อเกลือ จ.น่าน
สำหรับรายชื่อชุมชนที่ทีมชมรมแพทย์ชนบทจะเข้าไปตรวจคัดกรองเชิงรุกเบื้องต้นขณะนี้มี 30 ชุมชน และอยู่ระหว่างการประสานงานกับบางชุมชน ซึ่งจะมีเพิ่มอีก
ทั้งนี้ 30 ชุมชนแรก ประกอบด้วย 1.ชุมชนศิริเกษมรวมใจ 50 เขตบางแค เป้าหมาย 500 คน 2.ชุมชนวิจิตรสามัคคี ข้างวัดบางแวก เขตภาษีเจริญ เป้าหมาย300 คน 3.ชุมชนแก้วกลม เขตจอมทอง เป้าหมาย 1000 คน 4.ชุมชนในซอยเจริญนคร 48 เขตธนบุรี เป้าหมาย 300 คน 5.ชุมชนตรอกสะพานยาว เขตธนบุรีเป้าหมาย 500 คน
6.ชุมชนหมู่ 8 วัดทอง และชุมชนวัดเกาะ หมู่บ้านอิ่มอัมพร 3 เขตตลิ่งชัน เป้าหมาย 700 คน 7.ชุมชนเอื้ออาทรแสมดำ เขตบางขุนเทียน เป้าหมาย 1,000 คน8.ชุมชนวัดสุทธาราม เขตคลองสาน เป้าหมาย 300 คน 9.ชุมชนท่าดินแดง 14 -16 เขตคลองสาน เป้าหมาย 300 คน 10.ชุมชนวัดไก่เตี้ย ตลาดน้ำตลิ่งชันชุมชนบ้านลุ่ม ชุมชนวัดช่างเหล็ก เขตตลิ่งชัน เป้าหมาย 500 คน
11.ชุมชนเย็นอากาศ2 เขตยานนาวา เป้าหมาย 500 คน 12.ชุมชนวัด วรจรรยาวาส เขตบางคอแหลม เป้าหมาย 300 คน 13.หน้า สน.ดินแดง เขตดินแดง เป้าหมาย 500 คน 14.ชุมชนโรงหมู เขตคลองเตย เป้าหมาย 1,000 คน 15. ชุมชนเคหะฉลองกรุง โซน 1-6 เขตหนองจอก เป้าหมาย 3,000 คน
16.ชุมชนแผ่นดินทองนูรุสสะลาม เขตหนองจอก เป้าหมาย 200 คน 17.ชุมชนแผ่นดินทองดารุ้ลคอยรอต ชุมชนทรัพย์เจริญ ชุมชนบาหยัน 1 ชุมชนภักดีธรรมชุมชนส่งเสริมศีลธรรม เขตหนองจอก เป้าหมาย 300 คน 18.แคมป์คนงานโครงการ ฟอเรสต้า ถนนนิมิตใหม่ เขตคลองสามวา แคมป์ 1 (ผู้ใหญ่ 216 เด็ก50 พนักงานออฟฟิต 8 คน) แคมป์ 2 (ผู้ใหญ่ 214 เด็ก 49 พนักงานออฟฟิต 16 คน) 19.แคมป์คนงาน ถนนไทยรามัญ เขตคลองสามวา
20.ชุมชนทองสัมฤทธิ์ เขตมีนบุรี เป้าหมาย 200 คน 21.ชุมชนทรายกองดินใต้ชุมชนแบนชะโด ชุมชนศรีบูรพา เขตคลองสามวา เป้าหมาย 1,000 คน 22.ศูนย์ประสานงานเขตบึงกุ่ม เขตบึงกุ่ม เป้าหมาย 1,300 คน 23.ชุมชนวัดประชาระบือธรรมและใกล้เคียง เขตดุสิต เป้าหมาย 300 คน 24.ชุมชนมัสยิดมหานาค เขตป้อมปราบ เป้าหมาย 300 คน 25.ชุมชนซอยสนิทและชุมชนอื่นๆเขตบางซื่อ เป้าหมาย 2,000 คน
26.ชุมชนพานถม เขตพระนคร เป้าหมาย 200 คน 27.ลานกีฬาพัฒน์ 2 ราชเทวีเขตราชเทวี เป้าหมาย 300 คน 28.บ้านเอื้ออาทร-คู้บอน27 เขตบางเขน เป้าหมาย 500 คน 29.ชุมชนพลังสามัคคี ชุมชนสวนทองวิลล่า 1 ชุมชนซอยน้ำใสชุมชนซอยสดใส เขตบางเขน เป้าหมาย 500 คน และ 30.ชุมชนเคหะบางบัว เขตหลักสี่ เป้าหมาย 500 คน
เปิดจุดตรวจโควิด-19 สบยช. รับ Walk in วันละ 5,000 ราย
นอกจากจุดคัดกรองโควิด 3 แห่งได้แก่ สนามกีฬาธูปะเตมีย์ สนามราชมังคลากีฬาสถาน (หัวหมาก) และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แล้ว แต่ด้วยจำนวนประชาชนที่ต้องตรวจคัดกรองมีจำนวนมาก ในวันที่ 15 ก.ค. สปสช. ได้จัดจุดคัดกรองโควิด-19 ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) รองรับเพิ่มเติม โดยกรณีที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 สปสช. จะประสานผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่บ้านและในชุมชน(Home Isolation/Community Isolation : HI/CI)
“นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา” ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า โควิด-19 แพร่ระบาดหนักขณะนี้ เป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมช่วยกัน โดย สบยช. ได้จัดเตรียมสถานเพื่อรองรับการตรวจคัดกรองโควิด-19 แล้ว พร้อมกับอำนวยความสะดวกต่างๆซึ่งขณะนี้ยังมีประชาชนจำนวนมากที่กังวลว่าจะได้รับเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ทราบว่าจะเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ ดังนั้นที่นี่จึงเป็นอีกจุดตรวจหนึ่งที่ประชาชนสามารถเข้ามารับบริการได้
“นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า รับทราบข่าวสถานการณ์โควิด-19 ใน กทม.และปริมณฑ์ลมาตลอดว่า มีปัญหาการเข้าถึงการคัดกรองโควิด-19 ทั้งได้รับการประสานเมื่อวานนี้ว่า หาก รพ.มหาราชฯ มีศักยภาพก็อยากให้มาช่วยตรวจคัดกรอง ณ จุดนี้ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าที่โรงพยาบาลจะมีภาระงานมาก แต่ก็พอที่จะนำบุคลากรมาช่วยได้ ซึ่งในวันพรุ่งนี้ ( 15 ก.ค.) เราจะมีทีมนักเทคนิคการแพทย์ 6 คน อาชีวเวชกรรม 3 คน และแพทย์ปฐมภูมิ 1 คน ที่เป็นหัวหน้าทีมเข้ามาช่วยกันตรงนี้โดยการตรวจจะใช้วิธี Rapid Antigen Test ที่ให้ผลค่อนข้างเร็ว โดยตั้งเป้าหมายการตรวจวันละ 5,000 ราย ไม่มีค่าใช้จ่าย เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 - 21 ก.ค. 64 เวลา 09:00-16:00 น. ไม่เว้นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทั้งนี้เป็นความร่วมมือเพื่อช่วยให้สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศคลี่คลายลงโดยเร็ว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น