เปิดหลักเกณฑ์พิจารณา ไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจผู้ป่วยโควิด-19 รพ.ธรรมศาสตร์ นำร่อง!
แพทย์ ชี้ เป็นหลักเกณฑ์ให้คำแนะนำญาติและผู้ป่วย ที่ไม่อาจจะฝืน พยาธิสภาพของโรคก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว ด้าน “กรมควบคุมโรค” เร่งฉีดวัคซีน“สปสช.” กระจายยาฟาวิพิราเวียร์ “แพทย์ชนบท” ตรวจเชื้อเชิงรุก ช่วยลดผู้ป่วยหนัก เพื่อไม่ให้เดินไปสู่จุดที่ต้องตัดสินใจถอดเครื่องช่วยหายใจกับใคร …
เมื่อเวลา 22.00 น. วันที่ 22 ก.ค. 64 เก็บจากวชิรวิทย์ ได้รับเอกสารจาก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็น ประกาศเรื่อง “หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ (Withholding Intubation) สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” โดยระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่เข้าขั้นวิกฤตอย่างรุนแรง ส่งผลให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เข้าหลักเกณฑ์ สอดคล้องกับกฎหมาย และมาตรฐานการให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
กรณีที่ 1 ผู้ป่วยมีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า
: ผู้ป่วยมีการแสดงเจตนาโดยวาจา หรือโดยลายลักษณ์อักษร (advance directive หรือ living will) ไม่ประสงค์ให้ใส่ท่อช่วยหายใจ หรือมีการประชุมครอบครัวร่วมกับผู้ตัดสินใจแทน (surrogate decision maker) แล้ว กรณีที่ไม่มีการมอบหมายไว้ ญาติหรือผู้ดูแลใกล้ชิด และทีมสหสาขาวิชาร่วมกันพิจารณาอย่างรอบคอบ
กรณีที่ 2 ผู้ป่วยไม่ได้มีการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้า
: แพทย์ผู้ดูแลพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ เมื่อผู้ป่วยมีลักษณะอย่างน้อย 2 ข้อจาก 4 ข้อ ดังนี้
1. อายุมากกว่า 75 ปี
2. ป่วยเป็นโรคที่มีค่าคะแนน Charlson Comorbidity Index (CC) มากกว่า 4 เช่น โรคมะเร็งที่มีการแพร่กระจาย และโรคเอดส์ (AIDS)
3. ผู้ป่วยที่มีความเปราะบางระดับปานกลาง, รุนแรง, รุนแรงมาก, อยู่ในช่วงสุดท้ายของชีวิต หรือ Clinical Frailty Scale (CFS) มากกว่าหรือเท่ากับ 6
4. เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
หลักเกณฑ์ให้คำแนะนำญาติและผู้ป่วย ที่ไม่อาจจะฝืน “พยาธิสภาพของโรค” มีมาก่อนโควิด-19 ระบาดแล้ว
เวลาเดียวกัน ด้าน “นพ. ธนิต จิรนันท์ธวัช” นายแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เขียนบทความโพสต์ลงเฟซบุ๊คใจความว่าตอนหนึ่งว่า “มีเพื่อนถามด้วยความสะเทือนใจ เกี่ยวกับ ประกาศดังกล่าว” โดยจากสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกโรงพยาบาลในพื้นที่ระบาด ผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลวเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่มีเตียง ICU รองรับโดยทางโรงพยาบาลได้พยายามปรับเปลี่ยนหอผู้ป่วยธรรมดา เป็นหอผู้ป้วยICU ชั่วคราว และจัดหาเครื่องช่วยหายใจ นำมาใช้รักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจนเรียกได้ว่าปัจจุบันหอผู้ป่วย ICU มีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
โดยที่ไม่ได้มีการเพิ่มกำลังบุคลากรและไม่มีระบบ monitoring ต่างๆ ครบครันดังเช่นห้อง ICU เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเร่งด่วนไปก่อน และ รอเข้าห้อง ICU เมื่อมีเตียงว่าง ด้วยวิธีการทุกๆวิธี ที่ทางโรงพยาบาลพยายามอย่างเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตามก็ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีระบบหายใจล้มเหลวที่เพิ่มมากขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆทุกวัน
จึงเป็นที่มาของ ประกาศ หลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใส่ท่อช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้แพทย์ผู้รักษาได้มีแนวทางในเรื่องการพิจารณาไม่ใส่ท่อหายใจ และเป็นแนวทางให้แพทย์ผู้รักษาได้ให้คำปรึกษาแก่ญาติผู้ป่วย ที่ต้องการการรักษาแบบประคับประคอง ในภาวะที่โรงพยาบาลไม่มีเตียง ICU หรือ เครื่องช่วยหายใจ ที่จะรับผู้ป่วยระบบหายใจล้มเหลวรายใหม่ที่รออยู่ได้อีก
การให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและญาติ ด้วยการรักษาด้วยวิธี ไม่ใส่ท่อหายใจ และมุ่งเน้นการรักษาแบบประคับประคอง รวมทั้งการไม่กู้ชีวิต ผู่ป่วย เป็นแนวทางการให้คำแนะนำและการรักษาทางเลือก ที่แพทย์ใช้อยู่แล้ว โดยจะปรึกษาหารือกับผู้ป่วย และญาติในรายที่การรักษาต่อไปไม่อาจจะฝืน “พยาธิสภาพของโรค” ที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ และหากรักษาก็ไม่อาจทำให้ผู้ป่วยฟื้นจากการรักษาได้ เพียงแต่เป็นการยืดเยื้อต่อเนื่องเท่านั้น ซึ่งเป็นแนวทางการรักษาปฏิบัติทั่วไปสำหรับผู้ป่วยอาการหนักวิกฤติรุนแรง ก่อนยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อยู่ก่อนแล้ว
เร่งฉีดวัคซีน และกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ ตรวจเชื้อเร็ว ลดผู้ป่วยอาการหนัก
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีน ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ให้ครอบคลุมโดยเร็วเพื่อป้องกันการติดเชื้อซึ่งจะนำไปสู่การเป็นผู้ป่วยหนักและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
ขณะเดียวกันมาตรการล็อคดาวน์เข้มข้นที่ ศบค. ประกาศเริ่ม ณ วันที่ 20 ก.ค. 2564 คาดหวังว่าจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้ภายใน 14 วันโดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า หากประชาชนให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ใน 1-2 เดือนจำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานครจะลดลงในระดับไม่เกิน 1,000 คนต่อวันซึ่งระบบสาธารณสุขยังพอรองรับได้
ส่วนการกระจายยาฟาวิพิราเวียร์อย่างทั่วถึง ด้าน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ให้การสนับสนุนงบประมาณเบิกจ่ายอย่างเต็มที่ ซึ่งหากผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองได้รับยาอย่างทันเวลา จะบรรเทาอาการเชื้อลงปอด ไม่ให้ขยับขึ้นไปเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง หรือผู้ป่วยหนักได้
อีกมาตรการที่เดินควบคู่กันไปคือการตรวจเชื้อเชิงรุก ซึ่งขณะนี้กลุ่มแพทย์ชนบทลงพื้นที่ทั่วชุมชนในกรุงเทพมหานครตั้งเป้าตรวจประชาชนวันละ 10,000 คน เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาทันที่ นี่ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งในการช่วยลดผู้ป่วยหนักที่จะไม่ให้เดินไปสู่การตัดสินใจของแพทย์ผู้รักษา หยิบใช้แนวทางหลักเกณฑ์พิจารณาถอดเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น