รู้จัก “COVID Free Program” มาตรการหลังคลายล็อก
สธ.เสนอ ศบค. ให้ประชาชนแสดงเอกสารฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือมีผลตรวจATK ก่อนนั่งรับประทานในร้านอาหาร เดินทางข้ามจังหวัดด้วยสายการบินในประเทศ หลังภาพการติดเชื้อผ่านจุดพีกไปแล้ว
วันที่ 26 ส.ค. 64 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการผ่อนคลายมาตรการว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,501 ราย รักษาหาย 20,606 ราย เสียชีวิต 229 ราย สถานการณ์เป็นไปตามฉากทัศน์คือ ผลของการล็อกดาวน์มากกว่า 4 สัปดาห์มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อ 20-25% แต่การเสียชีวิตยังสูงในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรค จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มนี้
ภาพรวมขณะนี้ประเทศไทยน่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว แต่ยังมีการระบาดต่อเนื่องโดยมีแนวโน้มทิศทางค่อยๆ ลดลง ยังต้องขอความร่วมมือประชาชนกิจการต่างๆ ให้คงมาตรการ เพื่อไม่ให้มีการติดเชื้อรุนแรงอีก
ในอนาคต
กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมมาตรการเสนอต่อที่ประชุม ศบค. วันที่ 27 สิงหาคม 2564 เพื่อให้กิจการที่มีความเสี่ยงน้อยและมีความสำคัญ ยังสามารถดำเนินกิจการต่อได้ เช่น การนั่งรับประทานในร้านอาหาร กิจการกลางแจ้ง และการเดินทางข้ามจังหวัด โดยเฉพาะเครื่องบิน โดยจะเพิ่มมาตรการไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อ คือ COVID Free Program โดยสถานประกอบการต้องจัดสิ่งแวดล้อม เว้นระยะห่าง และระบบระบายอากาศ
ส่วนพนักงานและลูกค้าจะต้องเป็นโควิดฟรี คือ ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม, เคยติดเชื้อมาแล้ว 1-3 เดือนถือว่ามีภูมิ หรือมีผลตรวจโดยชุดตรวจ ATK ว่าไม่มีโควิด ซึ่งผู้รับบริการจะต้องแสดงเอกสารรับรองดังกล่าวเพื่อเข้ารับบริการ หากไม่สามารถแสดงเอกสารรับรองได้ กรณีร้านอาหารยังสามารถใช้บริการสั่งกลับบ้านได้ นอกจากนี้ ทุกคนยังต้องเข้มมาตรการป้องกันติดเชื้อแบบครอบจักรวาล(Universal Prevention) ตลอดเวลา
“เรื่องดังกล่าวเป็นข้อเสนอ รายละเอียดต่างๆ อยู่ที่การพิจารณาของ ศบค. ว่าจะเริ่มดำเนินการเมื่อไร มีข้อกำหนดอย่างไร โดยมาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการแนะนำเบื้องต้น อาจจะมีกิจการต้นแบบและใช้เป็นมาตรฐานต่อไปในอนาคตและจะมีการกำกับติดตาม อย่างไรก็ตาม กิจการต่างๆ เมื่อเปิดแล้วต้องช่วยกันดูแล ป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้ต้องปิดอีก”
ผู้ป่วยหนัก กทม. รอเตียงโควิด-19 ลดลงหลังใช้ระบบ HI / CI
ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง สถานการณ์โควิด 19 ภาพรวมในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ที่ติดเชื้อหายป่วยมากกว่าผู้ป่วยรายใหม่ อัตราการครองเตียงในต่างจังหวัดยังตึงตัวอยู่บ้าง แต่มีการขยายเตียงไปยังโรงพยาบาลชุมชนจึงพบปัญหาไม่มาก ส่วนใน กทม. เตียงรองรับผู้ป่วยยังไม่เพียงพอ จึงได้ปรับการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อด้วยระบบ Home Isolation : HI
ข้อมูลจาก สปสช. ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2564 มีผู้ป่วยที่เข้าระบบ HI ในกทม.สะสม 87,023 คน โดยมีสถานพยาบาลทุกสังกัด และคลินิกชุมชนอบอุ่นและคลินิกอื่นๆ ร่วมดูแล สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ใน กทม. ที่มีประมาณ 4,000 คน ต่อวันนั้น จะเข้าระบบ HI ประมาณ 1,000 คนต่อวัน กลุ่มที่ไม่สามารถมารถทำ HI ได้ จะมีการดูแลแบบ Community Isolation : CI แยกกักที่ชุมชน/ศูนย์พักคอยในกทม. มีจำนวน 64 แห่ง 8,694 เตียง รองรับผู้ป่วย 200-300 คนต่อวัน ขณะนี้อยู่ในระบบ 3,410 คน สะสม 15,749 คน ผลจากการนำผู้ป่วยเข้าระบบ HI และCI ทำให้โรงพยาบาลมีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงมากขึ้น ระยะเวลารอเตียงไม่เกิน 24 ชั่วโมง
นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรฐานการดูแล HI กรมการแพทย์ จะร่วมกับ สปสช. และสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ทำการประเมินคุณภาพทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ นำร่องใน 3 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี เลิดสิน และ นพรัตนราชธานี และจะประเมินให้ครบทุกเครือข่ายต่อไป
นอกจากนี้ ในผู้ติดเชื้อกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการทางกาย ทางจิต หรือเด็ก ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนจัดการดูแลโดยเฉพาะ เช่น โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ดูแลผู้มีปัญหาทางจิตเวช โรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ ดูแลกลุ่มคนพิการ และสถาบันราชานุกูล ดูแลเด็กพิเศษและครอบครัว รวมถึงมีระบบ HI ของสถาบันสิรินธรเพื่อคนพิการ CI ของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลสนามบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรเพื่อคนพิการ และ CI สำหรับเด็กอายุ 7-15 ปี ที่ ศูนย์สร้างสุขทุกวัย เกียกกายโดย สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับเขตดุสิต เป็นพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะช่วยดูแลผู้ติดเชื้อให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าระบบ HI ได้นั้น ต้องปฏิบัติตามแนวทาง 7 แยก คือ แยกนอนในห้องหรือนอนห่างจากผู้อื่น แยกกินอาหารคนเดียว แยกอยู่ในพื้นที่เฉพาะ แยกใช้ของใช้ส่วนตัว แยกทิ้งขยะ แยกห้องน้ำหรือใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และแยกอากาศคือสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดย สปสช.จะจัดส่งชุดมาตรฐาน (Standard Set) ประกอบด้วย ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดหน้ากากอนามัย ถุงขยะสีแดง และอาหาร 3 มื้อถึงบ้าน ส่วนยาที่จ่ายให้ขึ้นอยู่กับอาการ มีการติดตามอาการด้วยระบบเทเลเมดิซีน 2 ครั้งต่อวัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น