หมอกควัน จ.แม่ฮ่องสอน กระทบระบบ Sky Doctor พลาดส่งต่อคนไข้ฉุกเฉินแล้ว 9 ราย
แพทย์ รพ.ศรีสังวาลย์ เผย เดือน มี.ค. 67 พลาดส่งต่อคนไข้ฉุกเฉินแล้ว 9 ราย เสี่ยงเสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วย ICU เกือบครึ่งเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง สัมพันธ์กับสถานการณ์หมอกควัน ห่วงพัฒนาการเด็กเล็ก
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 นายแพทย์กรีฑา คำเนียม แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า เนื่องจากในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอนค่าฝุ่น PM 2.5 ค่อนข้างสูง แต่ไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงทำให้ปัญหาถูกละเลยมานาน และส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไข้ และส่งผลถึงการส่งต่อของโรงพยาบาล ซึ่งปกติเป็นการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยาน หรือ Sky Doctor แต่หมอกควันปกคลุมหนาแน่นจึงส่งผลต่อการขึ้นบินของเฮลิคอปเตอร์ ทำให้ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมามี ผู้ป่วยในเขตภาคเหนือ9 คนที่จำเป็นต้องได้รับการส่งต่อทางอากาศยาน แต่ไม่สามารถจะส่งต่อได้ ทำให้ต้องเสียเวลาส่งต่อทางรถ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานจากแม่ฮ่องสอนเดินทางด้วยเข้าเชียงใหม่ ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง เทียบกับทางอากาศยาน ใช้เวลาบินจากแม่ฮ่องสอนไปประมาณ 35 - 40 นาที
“ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาเร่งด่วน เช่น โรคหัวใจ หรืออุบัติเหตุที่รุนแรง ก็จะส่งผลต่อโอกาสรอดชีวิต ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูงขึ้น เพราะเวลาที่เสียไปแต่ละนาทีทำให้อาการผู้ป่วยแย่ลง” นายแพทย์กรีฑา กล่าว
แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ศรีสังวาลย์ บอกด้วยว่า การส่งต่อในช่วงหมอกควันทำได้น้อยลงเทียบกับเดือนที่ไม่มีหมอกควัน การส่งต่อทางอากาศยานในเขตภาคเหนือจะอยู่ที่ 20 คนต่อเดือน แต่ถ้าเป็นช่วงหมอกควันบางเดือนไม่สามารถส่งต่อได้เลย อย่างเช่นถ้า วันนี้ต้องส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน เราก็ไม่ส่งไม่สามารถส่งต่อทางอากาศยานได้
ผู้ป่วยระบบเดินหายใจ ครองเตียงไอซียูนานขึ้น
ขณะที่แพทย์หญิงอุมาพร วิราชะ แพทย์อายุกรรม โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ กล่าวว่า อัตราการเกิดของโรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนสัมพันธ์กับภาวะหมอกควัน มีทั้งแบบชนิดไม่รุนแรงเป็นผู้ป่วยนอก และรุนแรงต้องนอนรักษาโรงพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU) มีผู้ป่วยหลายรายที่มีการดำเนินของโรคค่อนข้างรุนแรง และมีระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลที่ยาวนานขึ้นในช่วงที่มีภาวะหมอกควัน
“แม้เราอาจจะพูดร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ว่า คนไข้ป่วยจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 หรือไม่ต้องรอผลศึกษาเพิ่ม แต่ด้วยการสังเกตุและการทำงานในพื้นที่ต่อเนื่องมาหลายปี พบว่าช่วงที่PM 2.5 สูง สัมพันธ์กับการเกิดโรคมากขึ้นจริง” แพทย์หญิงอุมาพร
แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ศรีสังวาลย์ บอกอีกว่า หอผู้ป่วยวิกฤตส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะมีภาวะหายใจล้มเหลวอยู่แล้ว การที่มีค่ามลพิษสูงในทางการแพทย์มันกระตุ้นให้เกิดการอักเสบมากขึ้นในระบบต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ คาดว่าน่าจะมีผลที่ทำให้ผู้ป่วยหนึ่งรายต้องใช้ระยะเวลาในการอยู่ไอซียูนานมากขึ้น
อย่างที่แจ้งว่าไอซียูเรามีแค่ 8 เตียงและรับผิดชอบดูแลคนไข้เกือบทั้งจังหวัด เพราะฉะนั้นการที่คนไข้คนหนึ่งใช้ไอซีอยู่ยาวนานขึ้น ก็อาจจะมีผลให้ผู้ป่วยรายอื่นที่จำเป็นต้องใช้มีโอกาสได้ใช้ลดลง โดยทั่วไปไอซียูรวมที่นี่ รับทั้งศัลยกรรม ผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยโรคอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็จะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป แต่ในช่วงที่หมอกควันเยอะสังเกตได้จริงว่า เป็นผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจที่มากขึ้นเกือบ 50% เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือปอดอุดกั้นเรื้อรังที่กำเริบ
ส่วนผู้ป่วยเด็กเป็นผู้ป่วยกลุ่มเปราะบางที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจาก PM 2.5 เด็กๆเข้ารับบริการในคลินิกเด็กมากขึ้น ในโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง แต่สิ่งที่น่ากังวลเกี่ยวกับเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ ก็คือพัฒนาการ เนื่องจากมีผลการศึกษาที่ยืนยันว่า PM 2.5 ส่งผลต่อพัฒนาการเด็กในหลายอย่าง
แพทย์หญิงอุมาพร บอกด้วยว่า ส่วนตัวเป็นคน จ.แม่ฮ่องสอน เกิดที่นี่รับรู้ปัญหามาโดยตลอดมีความเห็นใจและสงสารคนไข้มาก ทั้งส่วนที่เข้าไม่ถึงองค์ความรู้ว่าต้องป้องกันอย่างไร หรือบางส่วนเข้าถึงองค์ความรู้แต่ไม่มีศักยภาพที่จะดูแลตัวเองและครอบครัว ในส่วนของแพทย์ก็ทำเต็มที่ที่สุดในงานป้องกันรักษาคือให้ความรู้และแจกหน้ากากอนามัยซึ่งใช้งบประมาณไม่สูงมาก และในส่วนของการรักษา พยายามสำรองเตียงและจัดระบบส่งตัวคนไข้ให้สามารถสนับสนุนสถานการณ์วิกฤตหมอกควันในเวลานี้ได้
หมอกควันปัญหาเก่า เวลาเดิม แก้ไม่ได้สักที !
ด้าน นายแพทย์สมศักดิ์ อุทัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ช่วงเช้าค่าฝุ่นที่นี่ ขึ้นไปถึง 600-700 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โรงพยาบาลมีห้องปลอดฝุ่นจำนวน 11 ห้องตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับกับบุคคลที่มีปัญหาด้านสุขภาพ แต่การใช้จริงอาจได้ประโยชน์ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพราะสุดท้ายเมื่อกลับออกอยู่ข้างนอกก็เจอฝุ่นอยู่ดี จึงมีการปรับระบบบริการให้ส่งยาไปที่บ้านคนไข้ ไม่ต้องเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาลกรณีที่ไม่ต้องเจาะเลือดเพื่อลดการสัมผัสฝุ่นภายนอก
สำหรับโรงพยาบาลศรีสังวาลย์ไม่ใช่โรงพยาบาลใหญ่ มีจำนวนผู้ป่วยในครองเตียงอยู่ประมาณ 100 เตียงจาก 150 เตียง ถ้าดูเฉพาะผู้ป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางเดินหายใจ พบว่าในช่วงตั้งแต่เดือน ก.พ.- มี.ค. ก็เริ่มมีคนไข้โรคระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มหอบหืด ถุงลมโป่งพอง ที่มีอาการกำเริบ หรือผื่นแพ้ผิวหนัง หรือตาอักเสบ มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี
นายแพทย์สมศักดิ์ บอกอีกว่า PM 2.5 ไม่ใช่โรคระบาด แต่เป็นปัญหาเดิม ดังนั้นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องมาออกแบบระบบ และดำเนินการ ซึ่งสาธารณสุขคือปลายเหตุ เราอยากจะกระตุ้นย้อนกลับไปแก้ต้นเหตุ
”จ.แม่ฮ่องสอน ค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอันดับหนึ่งของประเทศ แต่เวลารายงานอาจจะเป็นกรุงเทพ เชียงใหม่ แต่แม่ฮ่องสอน กระทบอันดับหนึ่งทุกปี แล้วก็สูงสุดทุกปี เราลองผิดลองถูกมาหลายสิบปีเหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนว่า ตกลงจะเอาไงกันแน่ จะจัดการปัญหายังไง“
ผอ.รพ.ศรีสังวาลย์ย้ำว่า เป็นเรื่องที่น่าหนักใจพอสมควร เพราะสาธารณสุขทำได้ก็แค่บอกกับประชาชน ว่าเมื่อมีหมอกควัน วิธีปฏิบัติควรจะเป็นอย่างไร สังเกตยังไง ช่วยเหลือตัวเองอย่างไร ควรหลีกเลี่ยงอะไร ทำได้แค่นั้นซึ่งเป็นปลายเหตุ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น