อาจารย์แพทย์ ยัน PM2.5 คือ 1st class Carcinogen (สารก่อมะเร็งอันดับ 1)
ผิดหวังรัฐบาลไม่ขยับแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
สังคมไทยตื่นตัวอย่างมากกับปัญหาฝุ่น PM2.5 หลังมีการเปิดรายชื่อ 4 อาจารย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งปอด ท่ามกลางวิกฤตฝุ่น PM2.5 เวลานี้ที่ยังไร้ทางออก และยังหนักหน่วงมากในพื้นที่ภาคเหนือ มี จนท.ดับไฟป่าเสียชีวิต มีหลายครอบครัวที่แชร์ภาพเด็กๆ เลือดกำเดาไหล เพราะทนฝุ่นระดับสีม่วงไม่ไหว
วันนี้ (6 เม.ย. 25657) ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้และทรวงอก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ #เก็บตกจากวชิรวิทย์ ย้ำว่า PM 2.5 สามารถทำลายชีวิตมนุษย์ได้หลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือมะเร็งปอดทั้งๆ ที่เราไม่ได้สูบบุหรี่ มีการพิสูจน์ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกแต่ปี 2013 ว่า PM2.5 เป็น 1st class Carcinogen (สารก่อมะเร็งอันดับ 1) ทำให้เกิดมะเร็งปอดในมนุษย์ และเราก็เห็นจากงานวิจัยต่างๆในวารสารทางการแพทย์ว่ามีผู้ป่วยมะเร็งปอดที่ไม่ได้สูบบุหรี่มีจำนวนมากขึ้น สัมพันธ์กับถิ่นที่อยู่บริเวณที่มี PM2.5 ไม่ว่าจะประเทศอังกฤษ เกาหลีแคนาดา ไต้หวัน รวมทั้งประเทศไทย
คุณหมอแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง พบว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่และเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งไม่แทบไม่เจอเลย ตอนนี้ก็เจอในสัดส่วน 30% ที่ถูกส่งมาตรวจชิ้นเนื้อปอด แล้วถ้าดูในสถิติของประเทศไทย พบว่าภาคเหนือตอนบนเป็นมะเร็งปอดมากกว่าภูมิภาคอื่น และมากกว่าภาคใต้ประมาณ 2 เท่า ทั้งที่ประชาชนในภาคใต้มีความชุกของการสูบบุหรี่มากกว่าภาคเหนือ แต่ทำไมภาคเหนือจึงมีมะเร็งมากกว่าภาคใต้ “อันนี้ก็ต้องจะโทษอะไร มันก็เหลือ PM 2.5 ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา”
ส่วนตัวไม่เป็นแพทย์เจ้าของไข้ของ ศ.รวิวรรณ ผู้เสียชีวิตล่าสุด แต่ถ้าพูดในเชิงหลักการงานวิจัยทางการแพทย์ ก็เคยมีการนำสัตว์ทดลอง มาถูกกระตุ้นด้วย PM2.5 พบว่าเกิดยีนกลายพันธุ์เป็นมะเร็ง ขณะที่การศึกษาในมนุษย์ เคยมีการนำเซลล์ในปอดของมนุษย์เอามา exposure ต่อ PM2.5 พบว่ากระตุ้นให้เซลล์กลายพันธุ์ และเสี่ยงต่อการป่วยเป็นมะเร็ง โดยการศึกษาทางระบาดวิทยา ในคนที่อยู่ในท้องที่มี PM2.5 พบว่ามียีนส์กลายพันธุ์หรือ Epidermal Growth Factor Receptor (EGFR) mutation สูงขึ้นและทำให้เป็นมะเร็งปอดมากกว่ากลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ PM 2.5 ต่ำ
เมื่อถามว่ามีความหวังกับการแก้ปัญหาจากรัฐบาลแค่ไหน คุณหมอชายชาญ บอกว่า ”ผมมีความหวังมาจากภาคประชาชนมากกว่า“ โดยเฉพาะสภาลมหายภาคเหนือ ที่มีการระดมนักวิชาการทุกรูปแบบ ร่วมกันเสนอปัญหาในพื้นที่ ที่มีการเผาซ้ำซากในป่าอุทยานแห่งชาติ 10 แห่ง ที่มีการเผาซ้ำซากเป็นแสนไร่ ใน 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลไปดับไฟกองใหญ่ตรงนี้ แต่ว่ารัฐบาลไม่ได้ฟัง ไม่ได้ใส่ใจประเด็นนี้เท่าไหร่ แล้วไปเน้นเรื่อง KPI เฉพาะ hotspot การบริหารการจัดการเผา ก็ไม่ได้ทำตามหลักวิชาการ แต่เป็นการเผาเพื่อหลบดาวเทียมหลังบ่าย 2 โมงโดยหลัง 5 โมงเย็นก็ไฟลามจากเผาไม่กี่ร้อยไร่ก็เป็นหมื่น เป็นแสนไร่ในสองสามวันต่อมา
”ผมก็รู้สึกว่าถ้ารัฐบาลยังใช้มาตรการเดิมๆอยู่ หรือพยายามสร้างภาพด้วยวาระแห่งชาติ แต่ไม่ฟังคนในพื้นพื้นที่ ไม่ฟังภาคประชาสังคมปัญหานี้ก็จะถึงจุดสิ้นหวัง และอาจจะลุกลามมากขึ้น นอกจากเรื่องในประเทศแล้วก็ยังมี PM2.5 ข้ามแดนจากอุตสาหกรรมเกษตร จากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรจริงจัง เป็นรูปธรรม “
#เก็บตกจากวชิรวิทย์ #นักข่าวสาธารณสุข
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น