กทม.ตั้งเป้ารักษาทุกที่สิ้นปี 67 เล็งสร้าง 3 รพ.เพิ่มรองรับส่งตัวผู้ป่วย
ชี้ต้องแยกระดับการรักษา หากเจ็บป่วยเล็กน้อยก็รักษาใน “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ได้ทุกที่แล้ว แต่หากต้องส่งตัวต่อ ยังต้องไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์ เร่งเชื่อมข้อมูลก่อนสิ้นปี 2567 เริ่มทดลองระบบแล้วในโซนกรุงเทพฯใต้ กับ 3 รพ. 3 สังกัด
วันนี้ 25 มิ.ย. 2567 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า กทม. เปิดเผยกับ #เก็บตกจากวชิรวิทย์ ถึงกรณีนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ในส่วนของโรงพยาบาลสังกัด กทม. ต้องชะลอไปก่อน เพราะ กทม.มีเรื่องความซับซ้อนของระบบบริการที่มากกว่าที่อื่น ทั้งคลินิกปฐมภูมิ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ และสถานบันที่รักษาโรคซับซ้อนจำนวนมาก ถ้าประกาศรักษาทุกที่เหมือนกระทรวงสาธารณสุข จะทำให้ระบบสุขภาพกทม.ลวนหมด ทั้งคิวที่ถูกส่งต่อมาจากต่างจังหวัดที่มีมาก อาจทำให้คนไข้เสียประโยชน์ในการรักษา
ทั้งนี้ ได้ทดลองระบบรักษาทุกที่ ซึ่งหัวใจสำคัญคือการการเชื่อมต่อข้อมูลข้ามสังกัดในโซนกรุงเทพฯ ใต้ กับ 3 โรงพยาบาลคือเจริญกรุงประชารักษ์ สังกัด กทม. โรงพยาบาลเลิดสิน สังกัด สธ. และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สังกัด รร.แพทย์ โดยพื้นที่กทม. จะสามารถรักษาทุกที่ได้ในสิ้นปี 2567 ซึ่งจะไม่ต้องใช้ใบส่งตัวแล้ว
สำหรับการหารือระหว่าง กทม. กับ สปสช. เวลานี้ประชาชนสิทธิบัตรทองสามารถรักษากับ “หน่วยบริการปฐมภูมิ” ซึ่งก็คือคลินิกชุมชนอบอุ่น หรือ ศบส.ได้ทุกที่ แต่ถ้าเป็นโรคซับซ้อน ยังต้องใช้ใบส่งตัว โดยในอนาคตจำเป็นต้องสร้างโรงพยาบาลในสังกัดกทม. เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่งคือโรงพยาบาลดอนเมือง,โรงพยาบาลทุ่งครุ และโรงพยาบาลสายไหม เพื่อรองรับการส่งต่อผู้ป่วย
ส่วนข้อเสนอที่ควรให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. (ศบส.) เปิดรับประชาชนในเขต กทม.ที่ใช้สิทธิ์บัตรทองเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาใบส่งตัวจากคลินิกชุมชนอบอุ่นเฉพาะไปก่อน รองผู้ว่าฯ ทวิดา บอกว่า ภาระงานของศูนย์บริการสาธารณสุขปัจจุบันก็มากอยู่แล้ว และต้องดูว่าหมอหนึ่งคนสามารถดูแลคนได้ถึง 10,000 คนหรือไม่ เพราะหากจำนวนคนไข้ที่ต้องดูแลเยอะเกินไปอาจไม่ได้มาตรฐานตามวิชาชีพ
“ทุกวันนี้ ก็ออกคำสั่งให้ ศบส. และ รพ. สังกัด กทม. เปิดคลินิกนอกเวลาเพื่อบริการประชาชนอยู่แล้ว โดยศบส. ก็รับดูแลชาว กทม. สิทธิ์บัตรทองอยู่จำนวน 9 แสนคนส่วนอีก 2 ล้านคนอยู่กับคลินิกชุมชนอบอุ่น” รศ.ทวิดา รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
กทม.ตรวจสุขภาพ 1 ล้านคน เจอคนป่วยแล้วส่งไปไหน?
เมื่อถามถึงโครงการตรวจสุขภาพประชาชน 1 ล้านคนว่าหากพบคนป่วยกทม. จะส่งต่อไปไหน รองผู้ว่าฯ ทวิดา บอกว่า หากมาหากประชาชนเข้ามาตรวจสุขภาพในโครงการแล้ว พบการเจ็บป่วยกระทันหัน เช่นความดันสูงมาก ก็จะรีบส่ง ต่อไปยังโรงพยาบาลในสังกัดกทม.ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องเป็นสิทธิ์ไหน ขณะที่ถ้าพบความเสี่ยงที่จะป่วยก็จะประสานหน่วยบริการตามสิทธิ์ ให้คำแนะนำให้ประชาชนนำผลการตรวจสุขภาพไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาตามกระบวนการต่อไป
ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ เดือนต.ค. 2566 – พ.ค 2567 มีจำนวนผู้ตรวจสุขภาพประมาณ 350,000 คน ปกติ 1 แสนคน เสี่ยงป่วย 2 แสนคน และป่วย 5 หมื่นคน โดยอาการป่วยที่พบมากที่สุดคือโรคความดันโลหิตสูง,เบาหวาน,โคเลสเตอรอลในเลือดสูง ตามลำดับ ส่วนโรคที่มีความเสี่ยงที่จะป่วย คือ โรคความดันโลหิตสูง, ภาวะน้ำหนักเกิน โรคเบาหวาน และหัวใจหลอดเลือด ตามลำดับ
รศ.ทวิดา ย้ำว่า สถิติของการตรวจสุขภาพยังชี้ให้เห็นว่าคนกรุงมีความเครียดสูงขึ้น และมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าจำนวน 6% และมีอายุน้อยลง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น