เกาะเมืองอยุธยา​ พร้อมรับมือน้ำเหนือ​ ชี้ยังไม่วิกฤต​ ยังไม่เตือนให้ปชช.เก็บ​ของ

กรมชลฯ​ แจ้งเตือนพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลาง รับมือน้ำเหนือ​ ขณะที่เทศบาลอยุธยาจับตาเขื่อนเจ้าพระยา​ ยังปล่อยน้ำไม่เกินพันลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังไม่ต้องเตือนให้ประชาชนเก็บของ​ ขณะที่นายกอบจ.อยุธยา​ ห่วงพื้นที่​ คลองบางบาล เตรียมลงพื้นที่พรุ่งนี้​ (26 ส.ค. 67)


วันนี้​(25​ ส.ค.​ 67​) กรมชลประทาน แจ้งสถานการณ์​น้ำเหนือ​ที่จะไหลลงมาพื้นที่ภาคกลาง ทำให้ เขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการระบายน้ำเป็น 649 ลบ.ม./วินาที เพื่อรองรับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนตกหนัก โดยพื้นที่ลุ่มต่ำ ต้องระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งพื้นที่นครสวรรค์ อ่างทอง ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา​


#เก็บตกจากวชิรวิทย์ ลงพื้นที่​ สำรวจ​ พื้นที่ลุ่มต่ำคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าปริมาณน้ำค่อยๆเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่วิกฤต​ โดยชาวนารอบๆ​ เร่งเกี่ยวข้าวให้ทันก่อนน้ำจะท่วม​ ซึ่งคาดว่าน้ำเหนือจะไหลมาถึงที่นี่​วันที่​ 30​ ส.ค.​ 67​ โดยจากข้อมูลกรมชลประทาน​ ระบุว่าระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 40 – 80 เซนติเมตร


คลองบางบาล


ขณะที่ภายในเกาะเมืองเก่า​ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว​ ก็เริ่มมีการเตรียมพร้อมรับน้ำท่วมล่วงหน้า​​ โบราณสถาน​ริมน้ำหลายแห่งตรวจเช็กเครื่องสูบน้ำ​ พร้อมบรรจุทรายใส่ถุงกระสอบ​ ขณะที่วัดไชยวัฒนาราม​ ยกพนังกั้นน้ำ​รอแล้ว​ 





ทั้งนี้​ จ.พระนครศรีอยุธยา​ เผชิญสถานการณ์​น้ำท่วมครั้งล่าสุด​ เมื่อปี​ 2565​ ขณะที่ปี​ 2567​ ต้องบอกว่าเสี่ยง แต่จะหนักกว่าปี​ 2565​ หรือไม่ต้องรอดูว่า จะมีฝนตกเพิ่มหรือพายุลูกใหม่ที่จะเข้าซ้ำอีกหรือไม่​ โดยทั่วไป​แล้วสถานการณ์​น้ำที่อยุธยาจะเริ่มวิกฤตเอ่อล้นตลิ่ง​ ช่วงเดือน​ ก.ย.​ -​ต.ค.​


นาข้าวทยอยเก็บเกี่ยว


ด้าน​ กฤษณ์ เถี่ยนมิตรภาพ​ รองนายกเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา​ บอก​ว่า​ ตอนนี้ยังไม่ถึงกับต้องแจ้งเตือน​ ประชาชนในเกาะเมืองให้ยกของขึ้นที่สูงเนื่องจากจะต้องประเมินจากการระบายน้ำ จากเขื่อนเจ้าพระยา​ และการระบายน้ำ จากเขื่อนป่าสัก เพราะ แม่น้ำ 2 สาย จะไหลมารวมกันที่เกาะเมืองอยุธยา ที่บริเวณวัดพนัญเชิง ซึ่งหากมีมวลน้ำที่ระบายลงมารวมกันเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที​ ถึงจะเตือนให้ประชาชนในเกาะ​เมืองเริ่มเก็บของขึ้นที่สูง แต่ขณะนี้ก็ได้เปิดศูนย์บัญชาการน้ำท่วมของเทศบาลฯ ไว้พร้อมแล้ว


แม่น้ำป่าสัก - แม่น้ำเจ้าพระยา มาบรรจบกันที่วัดพนัญเชิง



“หากเราเตือนประชาชนในเกาะเมืองตอนนี้ให้ยกของขึ้นที่สูงโดยที่น้ำยังมาไม่ถึง อาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก และกระทบต่อเขตเศรษฐกิจเมืองท่องเที่ยว ซึ่งเวลาที่เหมาะสมที่จะเตือนล่วงหน้าคือประมาณ 1 สัปดาห์ให้เก็บของ แต่ย้ำว่าไม่ประมาท” รองนายกเทศบาลพระนครศรีอยุธยา​ กล่าว


กฤษณ์ บอกอีกว่า​ หลังน้ำท่วมล่าสุดเมื่อปี 2565 ทางเทศบาลฯ​ ได้ของบประมาณจังหวัด เพื่อจัดทำคันกั้นน้ำแบบยกขึ้นจากพื้น ซึ่งจะช่วยรับมือกับมวลน้ำในปี 2567 นี้หากมีปริมาณน้ำมากได้เป็นครั้งแรก​ แต่ก็ยังไม่ประมาทอาจต้องทำคันดินหนุนไว้ข้างหลังอีกชั้นหนึ่ง


วัดไชยวัฒนาราม ยกพนังกั้นน้ำ


ด้าน​ สมทรง พันธ์เจริญวรกุล​ นายกองค์​การบริหาร​ส่วน​จังหวัด​พระ​นครศรี​อยุธยา​ (อบจ.อยุธยา)​ บอกว่า​ เป็นห่วงพื้นที่ลุ่มต่ำมากกว่า​โดยเฉพาะพื้นที่บางบาล แม้สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่วิกฤต แต่ก็ได้สั่งให้มีการเตรียมพร้อมรับมือ ในส่วนของกระสอบทรายไว้อย่างเต็มที่​ ซึ่งพรุ่งนี้​ (26 ส.ค.​ 67) จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบความพร้อมในการรับมือน้ำท่วมที่เทศบาลบางบาล​ พร้อม​รับฟังชาวบ้านสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนวทางการรับมือ​ ช่วยเหลือเยียวยา



ส่วนโครงการ Mega Project ขนาดใหญ่อย่างแม่น้ำเจ้าพระยาสาขา 2 ที่จะรับผันน้ำ ผ่านประตูระบายน้ำบางไทร-บางบาลยังไม่เสร็จ 100% ยังไม่สามารถใช้งานในฤดูน้ำหลากปีนี้ได้


เมื่อถามว่าจะดีหรือไม่หากให้ท้องถิ่นสามารถจัดการน้ำได้ด้วยตัวเองมีอำนาจในการสั่งเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ​ สมทรงบอกว่า​ ยังเชื่อใจในการตัดสินใจของกรมชลประทาน ซึ่งน่าจะมีความชำนาญมากกว่า​ แต่อบจ.ก็พร้อมสนับสนุนและรับฟังความต้องการของชาวบ้านทุกเรื่อง.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!