“สนธิ” เผย เกษตรกรรมบุกรุก ป่าภาคเหนือหายปีละ 2 แสนไร่ ต้นเหตุน้ำท่วมหนัก
ด้าน “จตุพร-ไชยณรงค์” ชี้ปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ สิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ วอนอย่างเหมารวม ไร่เชิงเดี่ยว-ไร่หมุนเวียน ไม่โยนบาปให้คนต้นน้ำ
วันนี้ (24 ก.ย. 67) สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุ ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ในปี 2566 ประมาณ 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 ถึง 171,143.04 ไร่ ตัดไม้ทำลายป่าเปลี่ยนภูเขามาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมปีละเกือบสองแสนไร่
“สาเหตุสำคัญของอุทกภัยและดินถล่มครั้งใหญ่ของ จ.เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา ในปี 2567 สาเหตุฝนตกหนักกว่าเดิมแต่พื้นที่ซับน้ำไม่มี ฝีมือมนุษย์ทั้งนั้น”
จากโพสต์นี้ มีคนเข้าไปแสดงความเห็นจำนวนมาก The Active สอบถาม สนธิ เพิ่มเติม เขายืนยันว่า เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม ปลูกข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ทำไร่หมุนเวียน รวมหมด รัฐปล่อยให้ประชาชนไปปลูกพืชบนภูเขาที่มาความลาดเอียง 35% สูงเกิน 600 เมตร ปล่อยให้ประชาชนเข้าไปบุกรุกได้อย่างไร
สนธิเสนอว่า ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นป่าภาคเหนือก็ถูกทำลายไปทุกทีปีละ 2 แสนไร่ แล้วจะมีกฎหมายคุ้มครองไว้ทำไม เราต้องปฏิรูปใหม่ เพราะปีนี้ภัยน้ำท่วม น้ำป่า หนักในรอบ 30 - 100 ปี
ด้าน ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ระบุว่า น้ำท่วมแต่ละพื้นที่มีสาเหตุแตกต่างกันไป หน้า ม.พะเยามาจากพื้นที่รับน้ำกลายเป็นเมืองและอาจบวกการสร้างทางรถไฟรางคู่ ตรงแม่สายก็เช่นกันที่มีการก่อสร้างอาคารขวางทางน้ำลำน้ำอิงที่ท่วมก็มาจากฝาย 18 ตัว ที่เชียงของก็มาจากการปล่อยน้ำของเขื่อนจีน ส่วนอำเภอเมืองเชียงราย แม่กกก็มีเขื่อนแม่กกขวางทางน้ำใต้เมือง
ในหลายๆ ที่น้ำท่วมเพราะพื้นที่ชุ่มน้ำถูกบุกรุกทำลาย แม้แต่ป่าริมน้ำก็ไม่เหลือเช่นที่ภาคกลาง นี่ยังไม่นับพนังกั้นน้ำที่ตัดระบบลำน้ำกับพื้นที่ชุ่มน้ำ
“หากชี้นิ้วไปที่ต้นน้ำอย่างเดียวมันง่ายเกินไป และเป็นวาทกรรมเก่าๆ ที่ทำให้คนต้นน้ำตกเป็นแพะรับบาป”
ด้าน จตุพร เทียนมา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวในรายการ FlashTalk ว่า กิจกรรมการทำเกษตรในแต่ละพื้นที่ ไม่เหมือนกัน บางจุดเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวบนพื้นที่สูง บางจุดเป็นพื้นที่เกษตรที่ดูแลระบบนิเวศไปด้วยเช่นระบบไร่หมุนเวียน แต่ก็อยู่บนพื้นที่สูงเหมือนกัน
ในส่วนของระบบไร่เชิงเดี่ยว ทำซ้ำๆ ไม่ปล่อยให้มีต้นไม้เลย ก็จะต่างจากระบบไร่หมุนเวียน ซึ่งมีการทำเกษตรและพักฟื้นพื้นที่ เพื่อให้ระบบนิเวศฟื้นฟู โครงสร้างของการอุ้มน้ำใกล้เคียงกับระบบนิเวศในป่า ขณะที่กับระบบไร่เชิงเดี่ยว ปลูกข้าวโพดอย่างเดียว ทำซ้ำๆอย่างต่อเนื่องการอุ้มน้ำหรือโครงสร้างของดินที่จะรับน้ำหนักของน้ำก็แตกต่างกัน
“ไม่ควรมาเหมารวม ระบบไร่หมุนเวียนกับระบบพืชเชิงเดี่ยว อันนี้คือความต่างของการใช้ที่ดินบนพื้นที่สูง”
เขาบอกว่า แต่ที่เป็นสาเหตุหลักคือการเกิด Rain Bomb ฝนตกหนักและแช่อยู่ในพื้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาวะโลกร้อนทำให้เมฆฝนไม่เคลื่อนตัวไปตกพื้นที่อื่นไล่ลงไปตกแช่อยู่ที่เดียวจนเกิดดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลาก
กรณีบ้านห้วยหินลาดใน เป็นน้ำเพียงแค่พื้นที่ของชุมชน ต้นไม้อุดมสมบูรณ์ แต่ในกรณีของแม่สาย มีน้ำจากฝั่งพม่ามาด้วย ความเรื้อรังของตะกอนที่ไหลมาไปปะทะกับแม่น้ำน้ำโขงที่หนุนจากน้ำฝนที่ตกในจีน ทำให้แม่สายเกิดความเสียหายหนัก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น