3 ชีวิต 3 เส้นทาง เงินหมื่น ในสายตาผู้สูงวัย คลองเตย
รัฐบาลเคาะแจกเงิน 10,000 บาท ผู้สูงอายุ 4 ล้านคน เริ่มจ่ายทันตรุษจีน 2568
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า มติที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟส 2 โดยเน้นช่วยเหลือ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นลำดับแรก ครอบคลุมประชากรราว 4 ล้านคน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน แอปพลิเคชันทางรัฐ ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยต้องผ่านการตรวจสอบสิทธิ์และกระบวนการยืนยันตัวตน (KYC) อย่างถูกต้อง
“รัฐบาลจะสามารถโอนเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในเฟสแรกได้ทันช่วงเทศกาลตรุษจีนอย่างแน่นอน โดยมาตรการนี้มุ่งหวังช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน พร้อมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและสร้างความมั่นคงในระยะยาว” จุลพันธ์ กล่าว
ชีวิตต่างฝัน “เงินหมื่น” ในมือผู้สูงอายุคลองเตย
#เก็บตกจากวชิรวิทย์ ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชนคลองเตย 3 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ละคนมีอาชีพและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน
มนัส กะฐิมะสมิต วินมอเตอร์ไซค์วัย 66 ปี เคยมีรายได้มั่นคงจากการขับวินมอเตอร์ไซค์ ในช่วงเริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้เขาไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเปราะบาง แต่ด้วยความไม่แน่นอนของชีวิต ปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาหนี้สินจากการกู้เงินมาเลี้ยงหลานวัย 1 ขวบ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับมนัส หากได้รับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟสสอง จากรัฐบาส เขาต้องการเงินสดเป็นหลัก เพราะแม้จะมีสมาร์ทโฟน แต่ก็ใช้งานไม่สะดวกเท่าที่ควร เขาวางแผนว่าจะนำเงินก้อนนี้ไปใช้หนี้เป็นอันดับแรก และแบ่งส่วนที่เหลือไว้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว รวมถึงซ่อมแซมและบำรุงรักษามอเตอร์ไซค์ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้สามารถทำมาหากินต่อไปได้
ขณะที่ วัลภา บุญสุข แม่ค้าเครื่องดื่มวัย 62 ปี มีร้านกาแฟเล็ก อยู่หน้าสำนักงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แม้เธอยังพอมีรายได้เลี้ยงตัวเอง แต่ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจที่ซบเซาส่งผลให้รายได้ลดลง
เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท วัลภา วางแผนจะนำไปปรับปรุงร้านค้า และต่อยอดธุรกิจด้วยการเครื่องดื่ม ผ่านแอปออนไลน์ โดยมีลูกสาวมาช่วย
ส่วน นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ หรือ ป้าหมวย นักสังคมสงเคราะห์วัย 77 ปี
แม้จะไม่ได้มีภาระเรื่องค่าเช่าบ้านหรือค่าครองชีพ เพราะมีลูกหลานคอยดูแล แต่เธอก็ไม่ได้ปฏิเสธโครงการเงินหมื่นของรัฐบาล
ป้าหมวย บอกว่าจะใช้เงินเพื่อช่วยเหลือในงานบุญ งานกุศล รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ตามหน้าที่ที่เธอรับผิดชอบ และเธอตั้งใจจะนำไปเริ่มต้นทำขนมขายเล็กๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมในอนาคต
แม้ผู้สูงอายุทั้งสามคนจะมีสถานะและความต้องการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือความหวังในการใช้เงินช่วยเหลือเพื่อสร้างโอกาสให้กับตนเองและครอบครัว ท่ามกลางความเปราะบางและความท้าทายในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น