เตือนบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงปอดอักเสบรุนแรง สธ.สั่งเก็บข้อมูลผู้ป่วยทุก รพ.

กรมควบคุมโรค เผยข้อมูลหลังพบผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงที่ รพ.บุรีรัมย์ มีประวัติการสูบบุหรี่ไฟฟ้า สั่งการให้กองระบาดวิทยาเร่งเฝ้าระวังและสอบสวนโรคในกลุ่มผู้ป่วยปอดอักเสบ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า


ภาพประกอบ โดย AI 


แพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ร่วมกับแพทย์หญิงภาวิณี วงค์ประสิทธิ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลบุรีรัมย์ แถลงข่าวกรณีผู้ป่วยปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ารับการรักษา


แพทย์หญิงภาวิณี เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นโรคปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือโรค EVALI โดยมีอาการหอบเหนื่อย เหงื่อออกมาก และไอเป็นเลือด แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิต จากการซักประวัติพบว่า ผู้ป่วยสูบบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กับบุหรี่มวน และมีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวานและความดันโลหิตสูง ผลตรวจร่างกายพบฝ้าขาวในปอด แต่ไม่มีการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม พบอาการคล้ายการขาดนิโคติน โรงพยาบาลจึงประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อดำเนินการสอบสวนโรค


นายแพทย์ชยนันท์ระบุว่า กรมควบคุมโรคได้สั่งการให้กองระบาดวิทยาจัดทำระบบเฝ้าระวังและรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยกำชับให้สถานพยาบาลซักประวัติการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างละเอียด หากพบผู้ป่วยเข้าข่าย ต้องรายงานในระบบทันทีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบสวนและดำเนินการต่อไป


นายแพทย์ชยนันท์เน้นย้ำว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายและอันตรายต่อสุขภาพ น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วยสารพิษ เช่น นิโคติน สารโลหะหนัก และสารเคมีปรุงแต่งอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการเสพติดและยากต่อการเลิกใช้ กรมควบคุมโรคจึงขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เลิกใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต


สำหรับ ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติผู้ป่วยปอดอักเสบจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยยังไม่มีการรายงานตัวเลขเฉพาะเจาะจงในปี 2567 อย่างชัดเจน แต่กรมควบคุมโรคได้เน้นย้ำถึงความรุนแรงของโรคนี้ (เรียกว่า EVALI - E-cigarette or Vaping product use-Associated Lung Injury) ซึ่งเป็นภาวะอักเสบในปอดที่มีความเชื่อมโยงกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้า สารนิโคตินและสารปรุงแต่งในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าถูกระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว โดยผู้ป่วยในกรณีนี้มักมีอาการเช่น ไอ หายใจลำบาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น หายใจล้มเหลว   


แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีการเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2564 มีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 78,742 คน (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 709,677 คนในปี 2565 คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าในช่วงหนึ่งปี โดยเยาวชนกลุ่มอายุ 15-24 ปีเป็นกลุ่มที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด


#นักข่าวสาธารณสุข #เก็บตกจากวชิรวิทย์ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!