‘หมอชายแดน’ ยัน ไม่เลือกปฏิบัติ หลังดราม่าเพื่อนบ้าน แห่คลอดฟรี

ผอ.รพ.ท่าสองยาง จ.ตาก ชี้ รัฐมอบบริการสุขภาพชายแดน ช่วยสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงชายแดน 



19 ธ.ค. 2567 จากดราม่า ต่างด้าวคลอดไทยฟรี!  “นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ในฐานะแพทย์ที่ทำงานดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ชายแดน บอกว่า ประเด็นของพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาล มีทั้ง 


1. คนที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย 

2. คนที่ข้ามมาจากเมียนมา ข้ามมาคลอดที่ รพ.ท่าสองยาง มีเพียง 9% เท่านั้น


ส่วนคนที่อยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว ซึ่งจริง ๆ เขาอาจจะเป็นคนที่ต้องมีสัญชาติไทยไปแล้ว แต่เนื่องจากความบกพร่องของกระบวนการที่ทําให้ได้สัญชาติไทย รับรองสัญชาติไทยยังมีความบกพร่องอยู่ ทําให้ไม่ได้สัญชาติไทย และกลายเป็น “ต่างด้าวเทียม” 


ส่วนกรณีดราม่าคลอดฝั่งไทยที่เป็นข่าว นพ.ธวัชชัย บอกว่า ถ้ามุมมองในสาธารณสุข คือ การคลอดที่โรงพยาบาลปลอดภัยที่สุด และหากมองในพื้นที่ชายแดน โรงพยาบาลฝั่งเมียนมา ยังขาดความพร้อม ไม่ค่อยมีสถานพยาบาล รวมทั้งมีสถานการณ์ความไม่สงบในเขตชายแดน ทําให้หลาย ๆ โรงพยาบาลขาดแคลนบุคลากร ขาดเครื่องไม้เครื่องมือ ทำให้เขาเลือกที่จะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไทย


“ถ้าเป็นผม ผมเป็นพ่อแม่ หรือเป็นญาติ ผมก็อยากให้ลูกผมหรือญาติผมได้คลอดในที่ที่ปลอดภัย อันนี้มันก็ไม่ผิดหรอกครับ ผมว่าเราก็ใช้ความรู้สึกธรรมดาอย่างนี้ครับ แต่คนทํางานก็จะมองว่ามีเขามีเรา พอไม่ใช่พวกเรา ก็อาจจะรู้สึกไม่ดี” นพ.ธวัชชัย กล่าว 


ทั้งนี้ จากข้อมูลสถิติการเกิดของประชากรไทยในช่วง 2 ปี นี้ลดลง แม้กระทั่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคยมีความเชื่อเรื่องการมีลูกหลายคน นั่นอาจทำให้สัดส่วนการคลอดในกลุ่มคนจากประเทศเพื่อนบ้านสูงกว่า เพราะอัตราการเกิดยังเท่าเดิม


นพ.ธวัชชัย ยังพยายามสื่อสารกับบุคลากรในประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลที่ใกล้ชายแดน มีผู้ป่วยข้ามไป ข้ามมา จึงย้ำว่า “ตอนนี้ประเทศไทยเราไม่แน่ใจว่า เราพึ่งเมียนมามากกว่า หรือเมียนมาพึ่งเรามากกว่า” เพราะว่าถ้าเอาคนเมียนมาออกไป ประเทศไทย ก็จะได้รับผลกระทบ คือ เมียนมาเขาอาจจะพึ่งพาไทยในเรื่องเศรษฐกิจ ขณะที่ไทยเองก็พึ่งแรงงานจากเมียนมาเช่นกัน


อีกประเด็น คือ เรื่องความมั่นคงทั้งทางด้านสุขภาพ และความมั่นคงชายแดนควรมองว่า นี่เป็นเหมือน CSR ประเทศไทยอย่างหนึ่ง ถ้านําไปขยายผลว่า ไทยดูแลคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ถ้าดูแลดี จะนำไปสู่การดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะทางยุโรป อเมริกา ที่เขามองเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสําคัญ


ส่วน ความมั่นคงในชายแดนการที่มีมากกว่าแล้วให้ จะเป็นการป้องกันชายแดนอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องไปซื้ออาวุธ แต่คนกลับมองรัฐไทยดูแลคนไทยไม่ดีพอ เอ็นดูเขาเอ็นเราขาด ยืนยันว่า ในมุมของทางการแพทย์เอง เราก็ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม


#เก็บตกจากวชิรวิทย์  ตรวจสอบข้อมูลทางการเงินในส่วนของ “เงินบำรุงคงเหลือ” ของ 5 โรงพยาบาลประจำอำเภอที่อยู่ติดชายแดน ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ  ณ วันที่ 15 ก.ค. 2567 จ.ตากพบว่า 


โรงพยาบาลแม่สอด 245,194,859.11 บาท

โรงพยาบาลแม่ระมาด -20,376,055.59 บาท 

โรงพยาบาลท่าสอง -24,333,627.33 บาท 

โรงพยาบาลพบพระ 9,206,082.56  บาท 

โรงพยาบาลอุ้มผาง -42,290,905.87 บาท 


สิทธิ์ ท.99 สำหรับคนที่อยู่ไทย รอรับรองสัญชาติไทย


นพ.ธวัชชัย บอกอีกว่า สิทธิ์ ท.99 เป็นสิทธิ์สำหรับบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ์ คือ ต้องเป็นของคนที่อยู่ในไทยอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีคนที่เข้ามาเกิดเขาจะได้สิ่งนี้ ในมุมมอง เข้าใจว่า รัฐบาลไทยอาจจะมองว่า คือ เขาก็จะเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย หรือ ว่าอยู่ใกล้ ๆ ข้ามไปมาได้


“ต้องบอกว่ามันก็เหมือนเพื่อนบ้านกัน บางคนเขามีญาติอยู่ฝั่งโน้น จนพอแบ่งประเทศ ญาติเขาก็อาจจะมาไม่ได้ แล้วก็ถูกกีดกันว่าไม่ได้เป็นคนไทย คนที่อยู่ฝั่งไทยก็ได้เป็นคนไทย 


แต่เขาก็มีการเคลื่อนย้ายข้ามไปข้ามมา คนไทยบางคนก็ไปทําไร่ฝั่งเมียนมา หรือบางทีคนไทยเราก็จ้างคนฝั่งเมียนมาเข้ามาทําไร่อย่างนี้ครับ คือเขาก็ไปมาหาสู่กันอยู่แล้ว”

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!