วิกฤตฝุ่น! 4 สัปดาห์แรกปี 68 ป่วยพุ่ง 1 แสนคน โรคตา-หอบหืดระบาด

สาธารณสุขเปิด 5 มาตรการรับมือฝุ่น PM 2.5 พบ 60 จังหวัดเกินค่ามาตรฐาน จัดทีมพิเศษดูแลกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม แนะท้องถิ่นเร่งใช้งบฯ กทป.ทำโครงการแจกหน้ากากอนามัย ชวน ลดเผา ลดธูป ลดฝุ่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 






วันนี้ (24 มกราคม 2568 ) ที่ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM 2.5 กระทรวงสาธารณสุข สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหาร แถลงข่าวประเด็นการดูแลสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 และได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เร่งบูรณาการแก้ไขปัญหาบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยเร็ว 


วันนี้ มีจังหวัดที่มีค่าฝุ่นระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มขึ้นจาก 15 จังหวัดเป็น 21 จังหวัด จึงได้สั่งการให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศเข้ม 5 มาตรการ ได้แก่ 


1.เตรียมพร้อมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำพูน พิษณุโลก สุโขทัย นนทบุรี สระบุรี เพชรบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และประจวบคีรีขันธ์ ในสำนักงานเขตสุขภาพที่ 2 และ 4 รวมทั้งกรุงเทพมหานคร 


2.เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้ภัยสุขภาพ โดยส่วนกลางเปิดศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ ฝุ่น PM2.5 เผยแพร่ความรู้สุขภาพเป็นประจำ ในพื้นที่มอบหมายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และ อสม. เผยแพร่ข่าวสาร แนวทางปฏิบัติในการป้องกันตัวเองแก่ประชาชน รวมถึงสอบถามผ่านสายด่วนกรมอนามัย 1478 และสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 


3.จัด “ทีมพิเศษฉุกเฉินสุขภาพ” ระดับจังหวัด 76 ทีม และระดับอำเภอ 878 ทีม ดูแลกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม รวม 178,773 ราย ประกอบด้วย เด็กเล็ก 29,982 ราย ผู้สูงอายุ 137,622 ราย หญิงตั้งครรภ์ 2,305 ราย ผู้มีโรคหัวใจ 3,857 ราย และผู้มีระบบทางเดินหายใจ 5,007 ราย 


4.จัดบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม โดยเตรียมเสนอมาตรการ Work Form Home และงดกิจกรรมกลางแจ้งของประชาชน รวมทั้งจัดบริการคลินิกมลพิษ 


  • คลินิกมลพิษออนไลน์ เปิดระบบนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อม 
  • จัดห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการกระทรวงสาธารณสุข ศูนย์พัฒนาเด็กและโรงเรียน อาคารสำนักงาน และสถานประกอบการภาคเอกชน รวม 5,517 ห้องทั่วประเทศ รองรับกลุ่มเสี่ยงได้ 964,433 ราย 
  • สนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่น 1,340 ชุด ใน 35 จังหวัดเสี่ยงสูง และเตรียมกระจายให้ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่เสี่ยงสูง 37,569 ราย ในเขตสุขภาพ ที่ 1, 2, 3, 4, และ 8 



5.สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ หน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้ง 180,900 ชิ้น และหน้ากาก N95 จำนวน 1,096,700 ชิ้น โดยหน่วยงานในพื้นที่สำรองหน้ากากอนามัยชนิดใช้แล้วทิ้ง 6,887,938 ชิ้น และหน้ากาก N95 จำนวน 601,412 ชิ้น เพียงพอสำหรับใช้ต่อเนื่องได้ 2 เดือน นอกจากนี้ ยังสามารถขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ในการจัดหาอุปกรณ์ให้กับหน่วยบริการสาธารณสุข องค์กร หรือกลุ่มประชาชนได้อีกทางหนึ่ง


ชวนท้องถิ่นเร่งใช้งบฯ กทป.ทำโครงการแจกหน้ากากอนามัย


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า กปท. เป็นกองทุนในระดับพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เป็นต้น ที่ สปสช. อุดหนุนงบประมาณร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงบประมาณให้กับโครงการที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ภายใต้แนวคิดที่ให้ประชาชนในพื้นที่เป็นผู้จัดทำและขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้โครงการสุขภาพที่จัดทำนั้นสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่มากที่สุด


สปสช. จะเร่งประสานไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้มีการเร่งจัดทำโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 โดยเร็ว ตามที่ได้รับมอบหมายจาก รมว.สาธารณสุข ซึ่งโครงการในลักษณะนี้ก็เป็นหนึ่งในขอบเขตที่สามารถขอรับงบประมาณจาก กปท. ได้ ซึ่งหน่วยงานที่เขียนโครงการฯ สามารถทำได้ทั้ง หน่วยงานของรัฐและกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ 


“หากท่านมีไอเดียดีๆ ในการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ก็สามารถติดต่อเขียนโครงการเพื่อรับการสนับสนุนได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ของท่าน ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล หรือ อบต. ที่อาศัยอยู่” เลขาธิการ สปสช. กล่าว


นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ตัวอย่างลักษณะโครงการที่สามารถขอรับงบประมาณจาก กปท.ได้ เช่น การสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลตามความเสี่ยงต่อการเกิดโรค อาทิ หญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถจัดทำโครงการอบรมให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยติดต่อหน่วยงาน ที่สามารถให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลสุขภาพจากภัยฝุ่น PM 2.5 การจัดหาอุปกรณ์ป้องกัน หน้ากากมาตรฐาน N95 ตามวิธีการป้องกันของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการติดตามสถานการณ์ และเฝ้าระวังสถานการณ์ และแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบเป็นระยะ


ทั้งนี้ สปสช. ได้แนบตัวอย่างโครงการเพื่อของบประมาณจากกองทุนในการป้องกันสุขภาพของประชาชนจาก PM 2.5 ไว้ที่เว็บไซต์ของ สปสช. หรือสามารถดาวน์โหลดผ่านลิงก์ https://drive.google.com/drive/folders/1UH2weaRukz28uSC9xVOHYAuv7aIJN1ci?usp=drive_link ซึ่งประชาชนที่มีไอเดียดีๆ สามารถนำตัวอย่างโครงการเหล่านี้ไปเป็นแนวทางปรับใช้ในการเขียนโครงการเสนอของบประมาณได้ตามบริบทในพื้นที่


แนะวิธีเฝ้าระวังฝุ่นในกลุ่มเด็กเล็ก เผยเหตุเลือดกำเดาไหล 


นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 สูง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันโรคน้อยกว่าผู้ใหญ่และส่วนใหญ่ชอบเล่นกลางแจ้ง โดยผลกระทบจากการสัมผัสฝุ่นในระยะสั้น คือ 


  1. ทางเดินหายใจอักเสบ มีอาการหายใจลำบาก แสบจมูก เลือดกำเดาไหล ไอมีเสมหะ แน่นหน้าอก เหนื่อย หอบ ภูมิแพ้ และหืดกำเริบ 
  2. ทำลายภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดและทางเดินหายใจได้ง่าย เช่น ไข้หวัดใหญ่ หลอดลมอักเสบ หูอักเสบ 
  3. ผิวหนังอักเสบ 
  4. เยื่อบุตาอักเสบ 



สำหรับกรณีที่เด็กมีเลือดกำเดาไหล ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอากาศแห้ง สัมผัสมลพิษ เป็นโรคเกี่ยวกับจมูก เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ เกิดอุบัติเหตุหรือถูกกระแทกบริเวณจมูกหรือใบหน้า หรือแคะจมูก และภาวะเลือดออกแล้วหยุดยาก 


อาการที่พบ ได้แก่ ระคายเคืองเยื่อบุจมูก ทำให้เกิดการบวมและอักเสบตามมา จาม คัดจมูก คันจมูก ทำให้เลือดฝอยบริเวณจมูกแตกง่าย หากมีเลือดกำเดาไหล ให้เด็กนั่งเอียงตัวไปข้างหน้า ก้มศีรษะลงเล็กน้อย ใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกข้างที่มีเลือดออกเบาๆ อย่างน้อย 10 นาที และหายใจทางปากแทน อาจประคบเย็นบริเวณใบหน้าหรือหน้าผากร่วมด้วย แต่หากเกิน 30 นาที เลือดยังไม่หยุดไหล ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ ทั้งนี้ ขอย้ำว่าผู้ปกครองไม่ต้องตกใจหากเด็กมีเลือดกำเดาไหลสามารถปฐมพยาบาลเองได้ที่บ้าน


เชิญชวน “ลดเผา ลดธูป ลดฝุ่น ในช่วงเทศกาลตรุษจีน”


นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจอนามัยโพล เรื่อง “ฉลองตรุษจีน วิถีใหม่ ห่างไกลฝุ่น PM2.5” ระหว่างวันที่ 1-23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ในกลุ่มเป้าหมาย 668 คน พบว่า จะทำกิจกรรมไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ มากที่สุด 35.8% รองลงมา ไปซื้อของไหว้ในวันจ่าย  30.2% และไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ กับครอบครัว 18.1%


สำหรับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น มีผู้ที่ตอบว่าจะจุดธูป จุดเทียน  13.3% เผากระดาษเงิน/ทองและสิ่งของที่เป็นกระดาษเพื่อไหว้บรรพบุรุษ 10.5% และจุดประทัด 5.2% ตามลำดับ 


ส่วนการป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 ส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากกันฝุ่น  67.9% รองลงมา เช็ดทำความสะอาดบ้าน ที่พักอาศัยให้สะอาด ปลอดฝุ่น 41.8% และมีผู้ที่จะไม่จุดธูป ไม่เผากระดาษเงินกระดาษทอง 45.9% 


ทั้งนี้ ประชาชนสามารถช่วยลดฝุ่นละอองในสิ่งแวดล้อมได้ โดยเลือกใช้ธูปไฟฟ้า หรือธูปขนาดสั้น และดับธูปให้เร็วขึ้น เลี่ยงการจุดธูปหรือเผากระดาษเงิน กระดาษทองในบริเวณที่อับ/อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ส่วนวัดหรือศาลเจ้า ควรตั้งกระถางธูปไว้นอกอาคารหรือพื้นที่มีอากาศถ่ายเท ลดจำนวนการจุดประทัด รวมทั้งระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

 


ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 60 จังหวัด


ด้าน นายแพทย์วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษวันนี้ มีจังหวัดที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน 60 จังหวัด แยกเป็น ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6 - 75 มคก./ลบ.ม) 39 จังหวัด และระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) 21 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพฯ นนทบุรี ปราจีนบุรี สมุทรสาคร สระบุรี สมุทรปราการ เพชรบุรี สิงห์บุรี ระยอง ลพบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สุโขทัย ชัยนาท ฉะเชิงเทรา อ่างทอง หนองคาย อุทัยธานี และชลบุรี


โดยจังหวัดที่มีค่าฝุ่นมากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป ติดต่อกัน 3 วัน ขึ้นไป ได้แก่ เพชรบุรี สุโขทัย สระบุรี สมุทรสาคร กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี และระยอง จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบค่าฝุ่นเป็นประจำและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด


เผยจำนวนผู้ป่วย เงื่อนไข ประกาศเป็นเขตควบคุมโรคจากฝุ่นPM 2.5


ด้านนายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล กล่าวว่า  สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่เดือนต.ค.- ธ.ค.2567 ที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบถึง 1,048,015 ราย โดยกระทบกลุ่มผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง โรคหืดกำเริบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันผิว หนังอักเสบ ตาอักเสบ และที่กังวลก็คือเรื่องเลือดกำเดาไหลในเด็ก 


กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นควรการประกาศเขตพื้นที่ เฝ้าระวังควบคุมโรคจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ตามพ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม 2562 โดยมีมติจากที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 โดยเป็นการประกาศเขตพื้นที่ตามมาตรา 14 (2) เสนอคณะรัฐมนตรี แบ่งพื้นที่เป็น 2 ระดับ คือเขตเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากฝุ่นPM 2.52 และเขตควบคุมโรคจากฝุ่นPM 2.5 โดยกำหนดมาตรการดูแลประชาชนในเขตเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากฝุ่นPM 2.5 จะดูจากค่าเฉลี่ยฝุ่น 24 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 


เราจะทำใน 3 มาตรการคือ 1.สนับสนุนหน้ากากอนามัยตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย 2.จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในอาคารสถานที่ เช่นโรงพยาบาล โรงเรียนและเตรียมศูนย์รองรับอพยพกลุ่มเปราะบางเข้าพักคอยจนกว่าจะยกเลิกประกาศ 3.โรงพยาบาลแจ้งการพบผู้ป่วยในกลุ่มโรคที่เฝ้าระวัง 4 กลุ่มต่อเจ้าหน้าที่ 


หากค่าเฉลี่ย PM 2.5 มากกว่าหรือเท่ากับ 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะประกาศเป็นเขตควบคุมโรคจากฝุ่นPM 2.5 จะเพิ่มมาตรการจาก 3 ข้อ คือ 1.ออกประกาศ WFH ในทำงานที่บ้าน โดยให้แต่ละหน่วยงานให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น งดกิจกรรมกลางแจ้งที่ต่อเนื่องเพื่อลดการสัมผัสฝุ่น 2.ขอความร่วมมือเกษตรกรและเจ้าของสถานประกอบกิจการต่างๆ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ก่อมลพิษ ดำเนินการลดฝุ่น 3.ใช้กลไกตามมาตรา 35 โดยคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมจังหวัดและกรุงเทพฯพิจารณาเสนออธิบดีกรมควบคุมโรคประกาศเขตพื้นที่เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ 




#เก็บตกจากวชิรวิทย์ ตรวจสอบข้อมูลที่รายงานผ่านระบบด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) รายสัปดาห์ที่เข้ารับบริการในเดือนม.ค.2568 แสดงจำนวนครั้งและร้อยละ ของการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโรคจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 โดยแยกข้อมูลตามประเภทโรคและสัปดาห์ (wk01-wk04) รวมจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการเนื่องจากผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ตั้ง 1 - 23 ม.ค. 2568 มีทั้งหมด 127,053 คน


กลุ่มโรคที่ตรวจพบ:

โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease)

โรคหอบหืดเฉียบพลัน (Acute asthma)

โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Acute ischemic heart diseases)

โรคหัวใจขาดเลือดจากกล้ามเนื้อตาย (STEMI/NSTEMI)

โรคเยื่อตาขาวอักเสบ (Conjunctivitis)

โรคผิวหนัง เช่น กลากเกลื้อน (Eczema) และลมพิษ (Urticaria)


จำนวนผู้ป่วยในแต่ละสัปดาห์

wk01: รวม 39,515 ครั้ง

wk02: รวม 55,665 ครั้ง

wk03: รวม 27,322 ครั้ง

wk04: รวม 4,551 ครั้ง


กลุ่มโรคที่มีการเข้ารับบริการเยอะที่สุด 3 อันดับแรก จากข้อมูลทั้งหมดคือ


อันดับ 1: โรคเยื่อตาขาวอักเสบ (Conjunctivitis)

รวมทั้งหมด: 43,594 ครั้ง

รายสัปดาห์:

wk01: 13,019

wk02: 18,588

wk03: 9,981

wk04: 2,006


อันดับ 2: โรคหอบหืดเฉียบพลัน (Acute asthma)

รวมทั้งหมด: 24,967 ครั้ง

รายสัปดาห์:

wk01: 7,534

wk02: 11,441

wk03: 5,293

wk04: 699


อันดับ 3: โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema)

รวมทั้งหมด: 18,731 ครั้ง

รายสัปดาห์:

wk01: 6,215

wk02: 8,182

wk03: 4,118

wk04: 216


ข้อสังเกต

จำนวนผู้ป่วยในสัปดาห์ที่ 2 (wk02) สูงสุด

โรคที่พบบ่อยคือโรคเยื่อตาขาวอักเสบและโรคหอบหืดเฉียบพลัน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!