เปิดภาวะ 'เมาแผ่นดินไหว' โรคที่คนกรุงเผชิญ หลังอาคารต้องอพยพฉุกเฉิน

หลายอาคารในกรุงเทพฯ อพยพคนออกฉุกเฉินช่วงสายวันนี้ แม้ไม่มีรายงานแผ่นดินไหวใหญ่ที่ส่งผลต่อไทย เจอปัญหา "เมาแผ่นดินไหว" หรือ "โรคเวียนหัวหลังแผ่นดินไหว" รู้สึกโคลงเคลงเหมือนกำลังเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยโรควิตกกังวลและไมเกรนจะมีแนวโน้มอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป กระทรวงสาธารณสุขแนะวิธีบรรเทาอาการ ทั้งการสูดลมหายใจลึกๆ ดื่มน้ำมากๆ พักสายตาจากหน้าจอ มองจุดไกลๆ หรือพื้นที่ธรรมชาติ หากมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 1 สัปดาห์ให้รีบพบแพทย์





วันนี้ (31 มีนาคม 2568) จากกรณีหลายอาคารราชการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อพยพคนออกจากอาคารช่วงสายที่ผ่านมา ขณะที่ยังไม่มีรายงานแผ่นดินไหวใหญ่ หรืออาฟเตอร์ช็อกที่ส่งผลต่อประเทศไทย


อนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี บอกว่า แผ่นดินไหว ไม่เพียงผลกระทบต่อสิ่งก่อสร้างเสียหาย แต่ยังทำให้พี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเผชิญกับภาวะโรคที่มีชื่อว่า “เมาแผ่นดินไหว” หรือ “โรคเวียนหัวหลังแผ่นดินไหว” ทำให้รู้สึกเหมือนตนเองกำลังโคลงเคลงหรือเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัวของมนุษย์


สำหรับการเผชิญกับภาวะโรคเมาแผ่นดินไหว ในบางรายอาจมีผลกระทบที่รุนแรงและอาจกินระยะเวลาหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลและโรคไมเกรน ซึ่งจะมีแนวโน้มและอาการมากกว่าคนทั่วไป หากมีอาการดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขแนะนำวิธีการบรรเทาโรคเมาแผ่นดินไหว และวิธีจัดการความเครียด ดังต่อไปนี้


วิธีการบรรเทาโรคเมาแผ่นดินไหว


1. สูดหายใจเข้า-ออกลึกๆ ช้าๆ เหมือนการทำสมาธิ จะช่วยให้ผ่อนคลาย และระบบการทรงตัวจะค่อยๆ เริ่มกลับมาทำงานอย่างปกติ

2. ดื่มน้ำเปล่าสะอาด หรือน้ำขิง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน

3. พักสายตาจากหน้าจอมือถือ หยุดการเพ่งหรือจ้องมองหน้าจอเป็นเวลานานๆ รวมถึงการไถฟีดข่าว เพราะสายตาจะเห็นการเคลื่อนไหวตลอดเวลา

4. มองไปที่จุดไกลๆ ภาพที่ผ่อนคลายสบายตา เช่น เส้นขอบฟ้า ผืนนา และภาพธรรมชาติต่างๆ หรือนอนราบลงจะช่วยทำให้อาการดีขึ้น

5. พูดคุยกับผู้อื่นเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้รู้สึกว่ามีเพื่อนที่เข้าใจและผ่านเหตุการณ์เดียวกันมา

6. หลีกเลี่ยงการติดตามข่าวเกี่ยวกับการสูญเสีย หรือจำกัดเวลาในการติดตามข่าว เพราะจะเป็นการกระตุ้นความเครียดได้ง่าย

7. หาที่พักที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย หากยังรู้สึกตื่นตระหนกอยู่ ควรไปนอนพักที่ในสถานที่รู้สึกปลอดภัยก่อน

8. สามารถกินยาแก้เมารถเพื่อรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ แล้วนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ หากใครที่ปวดศีรษะหลังแผ่นดินไหวสามารถกินยาแก้ปวดรักษาตามอาการได้



ทั้งนี้ รัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชนหากประชาชนยังมีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สามารถขอคำปรึกษาผ่านเว็บไซต์ Here to Heal ซึ่งเป็นโครงการระบบบริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านข้อความแชต เพื่อให้เข้าถึงการบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยจะมีข้อแนะนำการดูแลจิตใจตนเองในเบื้องต้น ทั้งนี้ หากยังมีอาการไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ ควรรีบเข้าพบแพทย์ทันที หรือหากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปที่สายด่วน เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 หรือสายด่วนสุขภาพจิต โทร 1323



ขณะที่ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า อาการเวียนหัว ขณะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหว หรือแม้กระทั่งแผ่นดินไหวหยุดไปแล้ว เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนกลาง หรือเป็นโรคสมองเมาแผ่นดินไหว คือ กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว จึงทำให้รู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่าร่างกายยังต้องการการปรับตัว


วิธีบรรเทาอาการเวียนหัว มีดังนี้รีบพักผ่อนอย่าฝืนทำงาน หากรู้สึกเวียนหัวให้หยุดเดินแล้วนั่งพัก  ดื่มน้ำให้มาก ๆ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงหน้าจอที่เป็นแสงสะท้อนเข้าตาเพราะจะกระตุ้นอาการเวียนหัว หากอาการไม่หายภายใน 1 สัปดาห์ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที


ส่วนระยะยาวต้องคอยสังเกตว่าความเครียดความกังวลต่าง ๆ ว่ายังอยู่หรือไม่ เช็กตัวเองว่า มีพฤติกรรมอารมณ์อะไรที่เปลี่ยนไป กำลังกลัวอะไรอยู่ เพราะอาจจะเป็นสัญญาณที่บอกว่ากำลังปรับตัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ ต้องเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ


รู้จักโรคสมองเมาแผ่นดินไหว-โรคสมองหลอนแผ่นดินไหว


ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า หลังแผ่นดินไหวจบ นอกจากสิ่งก่อสร้างเสียหาย แต่ยังมีอาการตอบสนองต่อร่างกายยังไม่จบเป็นอาการต่อเนื่องด้วย เอาจริง ๆ อาจ ยังรู้สึก หวั่น ๆ โยกๆ อยู่นิดนึง


“กลุ่มอาการเหล่านี้ ที่ญี่ปุ่นรู้ดีเพราะแผ่นดินไหวบ่อย ไทยเรารู้ไว้ด้วยจะได้ สังเกตตัวเองอาการอะไรบ้าง เกิดต่อร่างกายจิตใจหลัง แผ่นดินไหว”


สำหรับ สมองเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Drunk) กลุ่มอาการวิงเวียนหลังแผ่นดินไหว หรือ Post-Earthquake Dizziness Syndrome หรือ PEDS) ผู้คนมักอธิบายว่ารู้สึกเหมือนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ คล้ายกับความโคลงเคลงที่รู้สึกหลังจากลงจากเรือ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “อาการป่วยจากแผ่นดินไหว” หรือ “จิชิน-โยอิ” (แปลตรงตัวว่า “เมาแผ่นดินไหว” ในภาษาญี่ปุ่น) การศึกษาชี้ว่าอาการนี้อาจเกิดจากการรบกวนในระบบการทรงตัว ซึ่งเป็นส่วนของหูชั้นในที่ควบคุมความสมดุล


การเคลื่อนไหวที่ไม่คาดคิดจากแผ่นดินไหวสามารถทำให้ระบบนี้เสียสมดุล ส่งผลให้สมองพยายามปรับความรู้สึกให้กลับมาปกติอย่างยากลำบาก บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ หรือรู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วย และอาการนี้อาจรุนแรงขึ้นในคนที่ไวต่อการเมารถอยู่แล้ว หรือในคนที่อยู่ในอาคารสูงระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งการสั่นไหวจะรู้สึกชัดเจนกว่า


ระยะเวลาของอาการทางร่างกายเหล่านี้แตกต่างกันไป ในหลายคน อาการวิงเวียนจะค่อย ๆ หายไปภายในไม่กี่นาทีหรือชั่วโมงเมื่อร่างกายปรับตัวได้ อย่างไรก็ตาม การวิจัยหลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เช่น แผ่นดินไหวโทโฮกุ ในญี่ปุ่นปี 2011 (ขนาด 9.0) หรือแผ่นดินไหวคุมาโมโตะในปี 2016


พบว่าบางคนมีปัญหาการทรงตัวนานถึงหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การศึกษาหนึ่งพบว่า มากกว่า 42% ของผู้ที่ถูกสำรวจรายงานถึง “ความรู้สึกโคลงเคลงที่เหมือนภาพลวงตา” ในช่วงหลายสัปดาห์หลังแผ่นดินไหวคุมาโมโตะ


ห่วงบางรายนำไปสู่โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD)


ส่วนอาการ “สมองหลอนแผ่นดินไหว“ หรือ “แผ่นดินไหวทิพย์” “earthquake illusion" เป็นปรากฏการณ์ทางจิตใจที่รู้สึกเหมือนมีแรงสั่นสะเทือนทั้งที่มันไม่ได้เกิดขึ้นจริง อาจเป็นเพราะความตื่นตัวที่สูงขึ้นหรือความทรงจำจากเหตุการณ์อาการทางจิตสั่นไหว


แผ่นดินไหวสามารถกระตุ้นการตอบสนองต่อความเครียดเฉียบพลัน เช่น ความวิตกกังวล ความกลัว แพนิก บางคนนำไปสู่โรคเครียดหลังเหตุสะเทือนใจ (PTSD) ซึ่งมีอาการเช่น การย้อนนึกถึงเหตุการณ์ ความตื่นตัวเกินเหตุ หรือการนอนหลับยาก กลัวการอยู่ในตึก หรือขึ้นรถไฟฟ้าไปเลย 


สาเหตุของอาการเหล่านี้ซับซ้อน น่าจะเป็นสมองพยายามประมวลผลข้อมูลทางประสาทสัมผัสที่ขัดแย้งกัน ตาบอกว่าพื้นดินนิ่ง แต่ระบบการทรงตัวบอกว่าเคลื่อนไหว จนเกิดการพุ่งขึ้นของคอร์ติซอล และอะดรีนาลีนระหว่างและหลังเหตุการณ์สามารถเพิ่มความไวต่อความรู้สึกในร่างกาย ทำให้อาการวิงเวียนหรือคลื่นไส้รู้สึกหนักขึ้น


คนที่เป็นภาวะนี้ ได้แก่ คนมีโรควิตกกังวลหรือประวัติปวดไมเกรน ยังไม่มีวิธีรักษาเฉพาะสำหรับอาการหลังแผ่นดินไหว แต่สามารถใช้วิธีจากอาการเมารถและการจัดการความเครียดได้ การมองไปที่จุดไกล ๆ (เช่น เส้นขอบฟ้า) การนอนลง หรือการจิบน้ำอาจช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนในระยะสั้นได้


สำหรับผลกระทบทางจิตใจ การพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์กับผู้อื่น จะช่วยระบาย หรือหลีกเลี่ยงการดูสื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์มากเกินไป นอกจากนี้ กินยาแก้เวียนได้ 2-3 วัน หากใจสั่นจิตตก ทำสมาธิ ไม่ดูข่าวมาก หากมียาช่วยนอน ทานได้ ปรึกษาแพทย์ หากเป็นมากจนแพนิก



ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ระบุ ผู้ประสบภัยจำนวนมากยังคงอยู่กับความหวาดกลัว วิตกกังวล จนอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ หากรู้สึกมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน แนะให้เข้าไปที่แอปพลิเคชัน Here to Heal และอาสานักจิตวิทยา บริการปรึกษาด้านสุขภาพจิตออนไลน์ผ่านข้อความแชท เพื่อให้เข้าถึงการบริการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตได้ที่ http://here2healproject.com /โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)



ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ขอให้ประชาชนตั้งสติ ย้ำไม่มีแผ่นดินไหวเพิ่มเติม


วันเดียวกัน ที่ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์กรุงเทพมหานคร ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงเหตุการณ์ที่มีข่าวประชาชนตื่นตระหนกจากอาคารสั่นไหว 


ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า เช้านี้มีเหตุการณ์ตื่นตระหนกในหลายอาคารว่ามีเหตุการณ์สั่นไหวและมีการอพยพคน ประเด็นแรกต้องมีสติ อย่าตื่นตระหนก เชื่อว่าหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาหลายคนยังคงกลัวอยู่ ขอแจ้งว่า After shock ที่เกิดขึ้นส่งผลกับประเทศไทยน้อยมากและมีขนาดเล็กมาก ซึ่งตามหลักแล้วไม่รู้สึกเลย


ประเด็นที่สอง ตึกที่ผ่านแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์มาได้ น้ำหนักของคนที่ขึ้นไปน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักของโครงสร้าง ตอนนี้น้ำหนักที่ตึกแบกอยู่คือตัวมันเอง ถ้าแบกตัวเองได้โอกาสพังทลายแทบไม่มีเลย


ตัวอย่างเช้านี้ ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) มีคนกังวลว่ามีการสั่นไหวจึงเกิดการอพยพออกมา เมื่อดูตัวเลขทางวิทยาศาสตร์แล้ว มีการสั่นไหวเพียง 1 ใน 100 ของแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ และอาคารทุกอาคารมีการขยับเขยื้อนอยู่แล้วเมื่อมีแรงลมหรือแรงอื่นกระทำ ขอย้ำว่าต้องตั้งสติให้ดี อย่ากังวลเกินเหตุ 


ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับอาคารไหนที่พบรอยร้าวใหม่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หรือเกิดความกังวลจริง ๆ ให้โทรแจ้งมาที่ 1555 เราจะส่งคนไปตรวจสอบ แต่รอยร้าวต้องพิจารณาให้ดีเพราะอาจเป็นรอยเก่าที่มีมาก่อนแผ่นดินไหว พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้ ผู้อำนวยการเขตทุกเขตเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนแล้ว ไม่ประมาท ไม่ละเลย


รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวเสริมว่า เรื่องที่ประชาชนกังวลในเรื่องรอยร้าว หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ประชาชนแจ้งเคสเข้ามากว่า 12,000 กรณี เราดูจากรูปแล้วประเมินว่า เป็นสีเขียว คือ เป็นรอยร้าวที่ไม่อันตราย เข้าอยู่อาศัยได้ 9000 กว่าราย ขณะเดียวกันกรณีรอยร้าวที่ประเมินเป็นสีเหลือง ประมาณ 465 กรณี เราไปตรวจแล้ว 300 กรณีไม่มีปัญหา แจ้งให้เป็นสีเขียวแล้ว ในส่วนวันนี้ที่เหลือจะดำเนินการตรวจให้หมด คาดว่าไม่น่ากังวล



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!