แม่น้ำสาย-แม่น้ำโขงไม่รอด เจอสารหนูปนเปื้อน ทีมวิจัยเตือนภัยระดับภูมิภาค
ทีมวิจัยม.แม่ฟ้าหลวงเก็บตัวอย่างน้ำ 9 จุด พบสารหนูเกินมาตรฐานทุกจุด โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมทองคำสูงถึง 19 เท่า นักวิชาการชี้ปัญหา 'น้ำท่วม-โคลน-สารหนู' เชื่อมโยงกัน เสนอให้ท้องถิ่นมีชุดตรวจน้ำเป็นของตนเองเพื่อเฝ้าระวัง พร้อมเร่งแก้ปัญหาเหมืองแร่ต้นน้ำในรัฐฉานเมียนมา
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 #เก็บตกจากวชิรวิทย์ #ThaiPBS ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำในแม่น้ำสาย แม่น้ำรวก ยาวไปจนถึงแม่น้ำโขง พร้อมกับ อ.ดร.สืบสกุล กิจนุกร จากสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารหนูในลำน้ำ
เริ่มตั้งแต่จุดแรกที่แม่น้ำสายไหลเข้าประเทศไทย คือบริเวณหัวฝาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จากนั้นไปที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 ที่อำเภอแม่สาย ต่อไปที่แม่น้ำรวก บ้านสบรวก มาจนถึงบริเวณสามเหลี่ยมทอง และแม่น้ำโขง อำเภอเชียงแสน เป็นจุดท้าย
“เราต้องการรู้ว่าในแม่น้ำสายและแม่น้ำโขงมีสารหนูปนเปื้อนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีเพียงการประปาส่วนภูมิภาคอำเภอแม่สายที่เคยเก็บน้ำไปตรวจตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้นยังไม่เคยมีหน่วยงานใดตรวจสอบซ้ำโดยตรงในลำน้ำสายและแม่น้ำโขงเลย”
อ.ดร.สืบสกุล ระบุว่า ก่อนหน้านี้หน่วยงานรัฐให้ความสนใจกับแม่น้ำกกมากกว่า เนื่องจากมีรายงานสารหนูจากการตรวจน้ำแล้วหลายครั้ง แต่แม่น้ำสายกลับแทบไม่มีข้อมูลการตรวจสอบ แม้แม่น้ำทั้งสองสายมีลักษณะทางต้นน้ำใกล้เคียงกัน
“แม่น้ำกกกับแม่น้ำสายมีต้นน้ำจากรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เหมือนกัน แม่น้ำกกไหลเข้าที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลเข้าสู่จังหวัดเชียงราย ไปยังเชียงแสน และไหลลงแม่น้ำโขง ส่วนแม่น้ำสายก็เริ่มจากรัฐฉาน ไหลเข้าประเทศไทยที่อำเภอแม่สาย ผ่านบ้านสบรวก แล้วลงแม่น้ำโขงเช่นกัน”
สิ่งที่ทั้งสองแม่น้ำมีเหมือนกันอีกคือ มีพื้นที่ทำเหมืองแร่ในต้นน้ำ ทั้งเหมืองแร่โลหะหนักและแร่อื่น ๆ ซึ่งเป็นที่มาของความกังวลเรื่องสารปนเปื้อน โดยเฉพาะสารหนู
พบสารหนูเกินมาตรฐาน “ทุกจุด”
อ.ดร.สืบสกุล บอกว่า เราตรวจน้ำภายใต้โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยและพยากรณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ ภาคเหนือตอนบน ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมูลนิธิ 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์
ผศ.ดร.สุรพล วรภัทราทร และ ผศ.ดร.ปิยาภรณ์ เชื่อมชัยตระกูล มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ช่วยกันทำการทดสอบเบื้องต้น ผลปรากฏว่าเราพบสารหนูเกินค่ามาตรฐานในทุกจุดที่เก็บตัวอย่าง ตลอดตั้งแต่จุดที่แม่น้ำสายเข้าประเทศ ไปจนถึงแม่น้ำโขงในเขตอำเภอเชียงแสน และพบเกินค่ามาตรฐานสูงสุด 19 เท่า ที่บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ขณะที่ค่ามาตรฐานต้องน้อยกว่า 0.01 mg/L ทั้งนี้ ผลดังกล่าวเป็นเพียงผลการตรวจเบื้องต้นทางทีมวิจัยจะนำตัวอย่างน้ำส่งตรวจใน Lab มาตรฐานต่อไป
จุดที่ 1 น้ำสาย บ้านถ้ำผาจม-หัวฝาย อ.แม่สาย
=> พบสารหนูปริมาณ 0.14* mg/L
จุดที่ 2 ลำเหมือง บ้านถ้ำผาจม-หัวฝาย อ.แม่สาย
=> ไม่พบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน
จุดที่ 3 น้ำสาย สะพานมิตรภาพที่ 1 อ.แม่สาย
=> พบสารหนูปริมาณ 0.14* mg/L
จุดที่ 4 คลองชลประทาน บ้านเหมืองแดง อ.แม่สาย
=> พบสารหนูปริมาณ 0.18* mg/L
จุดที่ 5 น้ำรวก บ้านเวียงหอม ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย
=> พบสารหนูปริมาณ 0.12* mg/L
จุดที่ 6 น้ำสาย สะพานมิตรภาพ 2 อ.แม่สาย
=> พบสารหนูปริมาณ 0.12* mg/L
จุดที่ 7 น้ำรวก บ้านสบรวก อ.เชียงแสน
=> พบสารหนูปริมาณ 0.12* mg/L
จุดที่ 8 น้ำรวกไหลลงแม่น้ำโขง สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน
=> พบสารหนูปริมาณ 0.19* mg/L
จุดที่ 9 แม่น้ำโขง เทศบาลเวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน
=> พบสารหนูปริมาณ 0.14* mg/L
กังวลสารหนูในน้ำ อาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร
จากการผลการตรวจสอบทำให้ อ.ดร.สืบสกุล กังวลว่าสารหนูที่พบจะส่งผลต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะถ้ามีการสัมผัสน้ำโดยตรง หรือถ้าเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร เช่น สะสมในปลา พืชผักที่ใช้น้ำชลประทานจากลำน้ำเหล่านี้ แล้วประชาชนนำไปบริโภค ก็จะกลายเป็นการสะสมในร่างกาย
เขายังชี้ว่า หากใช้น้ำปนเปื้อนในการทำเกษตร สารหนูอาจสะสมในพืชผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
“ถ้าเหมืองในต้นน้ำไม่ถูกปิด การปนเปื้อนก็จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสารหนูจะตกตะกอนในดิน สัตว์น้ำไปกินก็สะสมในร่างกาย ต่อให้วันนี้ไม่ป่วย แต่ในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า ก็อาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้” อ.ดร.สืบสกุลกล่าว
ข้อเสนอเชิงระบบ ตั้งศูนย์ตรวจน้ำถาวรในเชียงราย
อ.ดร.สืบสกุล กล่าวว่าระบบการตรวจสอบคุณภาพน้ำในจังหวัดเชียงรายยังไม่เพียงพอ ตอนนี้หากต้องการตรวจวิเคราะห์จริงจัง ต้องส่งตัวอย่างไปที่เชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน ถือว่านานเกินไป หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือปัญหาเฉียบพลัน
จึงเสนอว่า รัฐบาลควรตั้งศูนย์วิจัยหรือตรวจสอบคุณภาพน้ำในจังหวัดเชียงราย เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ชุดตรวจคุณภาพน้ำ – ท้องถิ่นควรมีใช้เอง
นอกจากการตั้งศูนย์ตรวจถาวรแล้ว อ.ดร.สืบสกุล ยังเสนอให้รัฐส่งเสริมให้ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงชุดตรวจคุณภาพน้ำในราคาที่เหมาะสม
“อบต. เทศบาล หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีชุดตรวจน้ำเป็นของตนเอง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจด้านนโยบายและมาตรการสาธารณสุขต่าง ๆ”
ตรวจแม่น้ำโขงครั้งแรก พบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน
อ.ดร.สืบสกุล ยังกล่าวถึงลักษณะการแพร่กระจายของสารหนูในแม่น้ำสายว่า สารหนูมันมากับน้ำ พอน้ำเอ่อหรือน้ำท่วม ก็ไม่ได้กระทบเฉพาะฝั่งไทยที่แม่สายเท่านั้น แต่ยังล้นไปฝั่งท่าขี้เหล็กในเมียนมาด้วย คือทั้งสองประเทศได้รับผลกระทบร่วมกัน และเมื่อแม่น้ำสายไหลลงแม่น้ำโขง นั่นหมายความว่าไม่ใช่แค่ไทยกับเมียนมาเท่านั้นที่ต้องกังวล ประเทศลาว กัมพูชา เวียดนามที่ใช้ทรัพยากรจากแม่น้ำโขง ทั้งจับปลา ใช้น้ำ ก็มีความเสี่ยงร่วมกันทั้งหมด เราจึงต้องเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขงอย่างจริงจัง
จุดที่น่าห่วงคือ การพบสารหนูในแม่น้ำโขง เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ และแม่น้ำสายก็เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับเมียนมา เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ปัญหาในระดับท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาระดับภูมิภาค และอาจต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการอย่างเป็นระบบ
“นี่ถือเป็นครั้งแรกที่เราได้เก็บน้ำจากแม่น้ำโขงในเขตเชียงรายมาทดสอบร่วมกับแม่น้ำสายและแม่น้ำรวบ แล้วพบสารหนูเกินค่ามาตรฐานทั้งหมด ก่อนหน้านี้อาจมีการวิจัยในประเทศอื่นบ้าง แต่ในพื้นที่ประเทศไทย โดยเฉพาะเชียงราย ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกเลยครับ”
อ.ดร.สืบสกุล ชี้ว่า ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องของคนเชียงราย เพราะแม่น้ำโขงไหลผ่านหลายจังหวัดภาคอีสาน “เราก็ไม่รู้ว่าสารหนูที่พบในเขตเชียงรายจะไหลไปถึงจุดที่ชาวบ้านภาคอีสานจับปลาอยู่หรือยัง หากไปถึงและสะสมในปลา ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพประชาชนในระยะยาว”
”หยุดเหมืองต้นน้ำ“ ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหายั่งยืน
อ.ดร.สืบสกุล บอกว่า สิ่งที่หลายฝ่ายในเชียงรายเสนอคล้ายกันคือ ต้องหยุดกิจกรรมเหมืองทุกประเภทในพื้นที่ต้นน้ำก ต้นน้ำสาย และต้นน้ำรวก เพราะนั่นคือแหล่งกำเนิดของสารโลหะหนักทั้งหมด หากยังมีเหมืองอยู่ สารเหล่านี้ก็จะสะสมในน้ำ พืชผล และสัตว์น้ำของเราเรื่อย ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่เฉพาะฝั่งเรา
”น้ำท่วม-โคลน-สารหนู“ ปัญหาที่เชื่อมโยงกัน
อ.ดร.สืบสกุล บอกอีกว่า แม่น้ำสายที่เราลงไปตรวจวันนั้น เพิ่งมีน้ำท่วมเมื่อวันก่อน วันนั้นที่ไปตรวจพบว่าน้ำปนเปื้อนสารหนูชัดเจน ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ปีที่แล้วที่น้ำท่วมแม่สาย และมีโคลนสีผิดปกติพัดพามาด้วย ตอนนั้นก็สงสัยว่าโคลนเหล่านี้มาจากไหน พอเราตรวจวันนี้ ยิ่งยืนยันว่าทั้งน้ำท่วม โคลน และสารหนูน่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน ก็คือเหมืองในฝั่งต้นน้ำ”
เขา แสดงความเป็นห่วงว่า หากปีนี้เกิดน้ำท่วมอีก “ประชาชนที่ต้องลุยน้ำเพื่อหนีน้ำหรือล้างบ้าน เราไม่รู้เลยว่าเขาได้รับผลกระทบอะไรจากการสัมผัสน้ำเหล่านี้ โดยเฉพาะถ้าน้ำท่วมอยู่นานหลายวันแบบปีก่อน ก็อาจได้รับสารพิษโดยไม่รู้ตัว”
”เฝ้าระวัง“ สิทธิในการรับรู้และดูแลตนเอง
เมื่อถามว่า ตรวจเฝ้าระวังไปแล้วได้อะไร เพราะปัญหาต้นทางก็ยังอยู่ อ.ดร.สืบสกุล บอกว่าการเฝ้าระวังคือสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูล เพราะที่ผ่านมา ข้อมูลเรื่องสารหนูในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย อยู่กับหน่วยงานรัฐ ประชาชนเข้าถึงเองไม่ได้ การที่เราลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำแล้วตรวจด้วยเครื่องมือของเราเอง มันเป็นจุดเริ่มต้นให้ประชาชนมีโอกาสรู้และดูแลตัวเอง
อ.ดร.สืบสกุล เปรียบเทียบเหมือนตอนโควิด ช่วงแรกต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล แต่พอมีชุดตรวจ ATK คนทั่วไปก็สามารถตรวจเองได้ แล้วดูแลตัวเองได้ ที่เชียงรายก็เหมือนกัน ถ้าประชาชนรู้ว่าน้ำในแม่น้ำสายหรือแม่น้ำกกมีสารปนเปื้อน ก็สามารถระมัดระวัง ปรับการใช้น้ำ หรือให้ อบต. เทศบาล นำข้อมูลไปวางแผนด้านสาธารณสุขได้
ต้องเริ่มจากข้อมูล เปิดทางสู่การเจรจาระหว่างประเทศ
สุดท้าย อ.ดร.สืบสกุล กล่าวถึงข้อเสนอให้รัฐบาลไทยยกระดับปัญหานี้สู่เวทีระหว่างประเทศ “ถ้าเราจะเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านหรือกลุ่มบริษัทที่ทำเหมืองในฝั่งเมียนมา รัฐบาลไทยต้องมีข้อมูลก่อน อย่างน้อยต้องรู้ว่าบริษัทไหนเป็นเจ้าของ ใครดูแล และต้องมีข้อมูลยืนยันว่ามีสารโลหะหนักหรือสารหนูในแม่น้ำจริง ๆ”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น