EnLAW เสนอใช้ม. 9 พรบ.สิ่งแวดล้อม จัดการฉุกเฉิน แม่น้ำกก-สาย

แม่น้ำกก-แม่น้ำสายปนเปื้อนสารพิษ ข้ามพรมแดน ‘สุรชัย ตรงงาม’ ชี้ กลไกกฎหมายไทยยังเดินได้ แต่การจัดการแหล่งกำเนิดต้องใช้ความร่วมมือระหว่างประเทศ ผลักดันกลไกอาเซียน-ความร่วมมือแม่น้ำโขงเข้าช่วยแก้ปัญหาระยะยาว ขณะที่ความซับซ้อนแหล่งกำเนิดมลพิษไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลเมียนมาโดยตรง แต่เป็นกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่




วันนี้ (27 พ.ค. 2568) นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)) ให้สัมภาษณ์ #เก็บตกจากวชิรวิทย์ เกี่ยวกับสถานการณ์การปนเปื้อนของสารพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายว่า แม้ประเทศไทยจะมีกลไกทางกฎหมายที่สามารถใช้จัดการปัญหามลพิษในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง แต่การแก้ไขที่แหล่งกำเนิด ซึ่งอยู่นอกเขตแดนประเทศไทย กลับเป็นประเด็นซับซ้อนที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ และยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางในการดำเนินการ


เสนอใช้กลไกกฎหมายในประเทศ จัดการเฉพาะหน้า


นายสุรชัยกล่าวว่า การประกาศ “เขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม” เป็นหนึ่งในมาตรการที่รัฐสามารถใช้ได้ เพื่อเอื้อต่อการออกข้อบังคับหรือแนวทางจัดการในพื้นที่ที่มีปัญหาอย่างเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะมีผลมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งบางกรณีอาจยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ


นอกจากนี้ เขายังเสนอว่า รัฐบาลไทยสามารถใช้อำนาจตาม มาตรา 9 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ซึ่งให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติหรือภาวะมลพิษร้ายแรง ซึ่งอาจเป็นภัยต่อสาธารณชน เช่นเดียวกับกรณีฝุ่น PM 2.5 ที่เคยถูกตีความว่าเข้าเงื่อนไขดังกล่าวมาแล้ว


“มาตรา 9 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งการส่วนราชการหรือบุคคล ให้ดำเนินการหรือควบคุมเพื่อระงับผลร้ายจากมลพิษได้ ซึ่งถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามก็มีโทษด้วย” นายสุรชัยอธิบาย


อย่างไรก็ดี เขาเตือนว่า แม้จะมีกฎหมายในมือ แต่การใช้กลไกเหล่านี้ต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและลักษณะพื้นที่โดยเฉพาะ


มองต้องเร่งจัดการปัญหาเฉพาะหน้า ควบคู่ระยะยาว


นายสุรชัยกล่าวว่า การฟื้นฟูปัญหามลพิษจำเป็นต้องดำเนินควบคู่กันในสองระดับ คือ ระดับเฉพาะหน้า เพื่อควบคุม ยับยั้ง และบรรเทาความเสียหายเบื้องต้น เช่น การประกาศเขตภัยพิบัติ การออกมาตรการเร่งด่วนในพื้นที่ และ ระดับระยะยาว ซึ่งต้องใช้การศึกษาข้อมูลเชิงลึกและแนวทางที่เป็นระบบมากขึ้น


“ระยะฉุกเฉินต้องทำให้หยุด ระงับ บรรเทา ส่วนระยะยาว ต้องศึกษาวิธีการจัดการอย่างรอบด้าน” เขาระบุ


อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญอยู่ที่แหล่งกำเนิดสารปนเปื้อนซึ่งอยู่ภายนอกเขตแดนประเทศไทย ในพื้นที่รัฐฉาน ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังติดอาวุธ ไม่ใช่รัฐบาลเมียนมาโดยตรง จึงยิ่งทำให้กลไกความร่วมมือระหว่างประเทศมีความซับซ้อนมากขึ้น


กลไกระหว่างประเทศ ความหวังที่ยังไม่ชัด


เมื่อถูกถามถึงความเป็นไปได้ในการใช้กลไกระหว่างประเทศในการจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ นายสุรชัยชี้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีกรอบความตกลงระหว่างประเทศใดที่สามารถใช้ได้ทันทีกับกรณีแม่น้ำกก-สาย ซึ่งแตกต่างจากแม่น้ำโขงที่มีกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่แล้ว


เขามองว่า กลไกอาเซียนหรือกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อาจเป็นเวทีที่สามารถใช้ขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนได้ในอนาคต แม้จะยังไม่มีบทบาทที่ชัดเจนในปัจจุบัน


“รัฐไทยไม่มีทางเลือกอื่น ต้องใช้ทุกกลไกที่มี รวมถึงกลไกกลุ่มแม่น้ำโขง แม้ว่าน้ำกกจะเป็นเพียงสาขา แต่ก็ไหลลงโขง จึงมีเหตุผลที่จะดึงประเด็นเข้าสู่ความร่วมมือนี้ได้”


สำหรับข้อเสนอที่ให้ใช้กลไกแม่น้ำโขงเข้าไปจัดการแม่น้ำสาย-กกโดยตรง นายสุรชัยมองว่าอาจยังไม่มีน้ำหนักทางกฎหมายเพียงพอ เพราะกลไกดังกล่าวมุ่งเน้นจัดการผลกระทบต่อแม่น้ำโขง ไม่ใช่ลำน้ำสาขา


“แม่น้ำสายกับแม่น้ำกก ไหลลงแม่น้ำโขงก็จริง แต่จะเอากลไกแม่น้ำโขงมาจัดการโดยตรงกับพื้นที่ต้นน้ำเลย อาจจะยังไม่ชัดเจนว่าทำได้แค่ไหน”


ในมิติของกลไกสหประชาชาติ เขายอมรับว่ายังไม่มีแนวทางที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างตรงตัวทันที แม้บางกลไกอย่าง “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” หรือ “กลไกสิ่งแวดล้อมของยูเอ็น” อาจเข้ามาเกี่ยวข้องได้บ้าง แต่ก็ต้องตรวจสอบสถานะของเมียนมาในแต่ละข้อตกลงระหว่างประเทศอีกครั้ง


“ปัญหาอยู่ที่รัฐเมียนมาเองก็ไม่ได้ควบคุมพื้นที่ที่เกิดเหตุโดยตรง ทำให้แม้แต่กฎหมายระหว่างประเทศก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ง่าย ต้องอาศัยข้อเสนอใหม่ ๆ และการระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่าย”


ปัญหาข้ามแดน-กรณีท้าทายของกฎหมายสิ่งแวดล้อม


นายสุรชัยสรุปว่า กรณีมลพิษจากแม่น้ำสายและแม่น้ำกกถือเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ซับซ้อนมาก ซึ่งแม้แต่นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมเองก็ยังเห็นว่าเป็นประเด็นใหม่และท้าทายอย่างยิ่ง


“ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลข้ามพรมแดน พบได้ทั่วโลก และหลายกรณีก็นำไปสู่ข้อตกลงระหว่างประเทศในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน แต่กรณีนี้ยังไม่มีข้อตกลงใดรองรับ จึงต้องใช้กลไกอื่นๆ เช่น อาเซียน หรือความร่วมมือภูมิภาคเป็นตัวตั้งต้น”


ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่วนเรื่องสารพิษปนเปื้อน ขณะนี้ได้สั่งการให้ตรวจสอบ พบว่า สารพิษที่มาจากต้นน้ำในเขตแดนเมียนมา เมื่อผ่านน้ำเข้ามาในพื้นที่ไทยมีความเจือจางลง 


เชื่อว่า ยังไม่มีความน่ากังวล เพียงแต่ไม่ทำอะไรเลยในระยะยาวจะสะสม และทำให้เกิดปัญหาได้ ขณะเดียวกันกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ ได้เข้าไปดู รวมถึงมีการเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อให้หน่วยงานต่างประเทศเข้ามา 


และเราก็ได้พูดคุยกับทางเนปิดอว์แล้ว ซึ่งก็เห็นใจเขาที่ตอนนี้กำลังแก้ปัญหาเรื่องแผ่นดินไหวอยู่ ดังนั้น ในส่วนที่เขายังไม่มีความพร้อมที่จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ เราก็จะเจรจาตกลง ว่า เราพอจะผ่อนคลายได้บ้าง ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่เราทำขณะนี้ ต้องกั้นลำน้ำ ไม่ว่าจะทำฝาย หรือ เขื่อน ก็ขึ้นอยู่กับหลักวิศวกรรม เพื่อกักสารพิษ ให้สามารถดูดออกได้ ส่วน น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ขณะนี้ก็ไม่มีปัญหา พร้อมย้ำว่า ทหาร และหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทำงานร่วมกันอยู่แล้ว



*หมายเหตุ: 


มาตรา 9 เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อสาธารณชน อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะมลพิษที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกายหรือสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐเป็นอันมาก ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควรให้ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือบุคคลใด ๆ รวมทั้งบุคคลซึ่งได้รับหรืออาจได้รับอันตรายหรือความเสียหายดังกล่าว กระทำหรือร่วมกันกระทำการใด อันจะมีผลเป็นการควบคุม ระงับหรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้ก่อให้เกิดภาวะมลพิษดังกล่าว ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งบุคคลนั้นไม่ให้กระทำการใดอันจะมีผลเป็นการเพิ่มความรุนแรงแก่ภาวะมลพิษในระหว่างที่มีเหตุภยันตรายดังกล่าวด้วย 


อำนาจในการสั่งตามวรรคหนึ่ง นายกรัฐมนตรีจะมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการภายในเขตจังหวัดแทนนายกรัฐมนตรีได้ โดยให้ทำเป็นคำสั่งและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งตามวรรคหนึ่ง หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในการปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้สั่งตามวรรคสองแล้ว ให้ประกาศคำสั่งดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาโดยมิชักช้า 




ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา

“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!