“คลินิกชุมชนอบอุ่น” เสนอแยกงบ OP Refer แก้ปมใบส่งตัว แต่ สปสช.ค้าน
คลินิกชุมชนอบอุ่น เสน แยกงบ OP Refer แก้ปัญหาใบส่งตัว กทม. แต่ สปสช.ไม่เห็นด้วย ชี้ทำให้ระบบขาดความเป็นเครือข่าย เสี่ยงส่งต่อผู้ป่วยเกินจำเป็น ขณะที่ นักวิจัย สธ. เสนอ “แฮมเบอร์เกอร์โมเดล” แก้ปัญหาการจ่ายเงินคลินิกไม่เป็นธรรม ชงผู้ว่าฯ กทม. นั่งประธาน อปสข. ด้าน รองฯทวิดา ชี้ระบบเปลี่ยนบ่อย แบกภาระเกินกำลัง
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2568 ที่งานเสวนา “ ทิศทางการดำเนินงานระบบบัตรทองในปัจจุบันและอนาคต” นางศรินทร สนธิศิริกฤตย์ เจ้าของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ และสมาชิกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น ให้สัมภาษณ์ #เก็บตกจากวชิรวิทย์ ถึงปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเสนอว่า ระบบส่งต่อผู้ป่วยนอก (OP Refer) ในเขต กทม. ควรถูกแยกออกจากงบประมาณบริการปฐมภูมิ (OP ปฐมภูมิ) เพื่อคลินกไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเมื่อต้องส่งต่อคนไข้ไปโรงพยาบาล
“คลินิกส่งต่อผู้ป่วยด้วยเจตนาบริสุทธิ์ เพราะไม่สามารถรักษาโรคซับซ้อนได้ เช่น โรคหัวใจ แต่สุดท้ายสิ่งที่โรงพยาบาลส่งกลับมากลับเป็นผู้ป่วยที่เพียงปวดหัวหรือแผลเล็ก ๆ ซึ่งคลินิกสามารถดูแลได้เอง”
นางศรินทร ยอมรับว่า เมื่อส่งต่อไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะเอกชน หรือแม้แต่โรงพยาบาลรัฐบางแห่ง แสวงหาผลประโยชน์จากการตรวจแล็บจำนวนมาก รวมถึงการใช้เครื่องมือแพง เช่น CT หรือ MRI โดยไม่มีเกณฑ์ทางการแพทย์ที่ชัดเจน และบางครั้งแพทย์ยังได้รับผลตอบแทนแฝง (kickback)
เธอระบุว่า หากเป็นงบก้อนที่จำกัดเหมือนเงินตัวเอง โรงพยาบาลจะต้องหารือร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรฐานการใช้จ่าย แต่ในระบบปัจจุบันที่สามารถเบิกจ่ายได้เต็มจำนวนโดยไม่มีเพดานชัดเจน ส่งผลให้เกิดการใช้งบเกินความจำเป็น และทำให้หน่วยบริการปฐมภูมิต้องแบกรับภาระตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องการตรวจซ้ำซ้อนโดยไม่จำเป็น เช่น ผู้ป่วยคนเดียวอาจถูกสั่งตรวจแล็บครั้งใหญ่ทุกเดือน หรือไปพบแพทย์หลายคนซึ่งสั่งตรวจซ้ำกัน ทั้งที่เป็นโรงพยาบาลเดียวกัน โดยไม่มีระบบควบคุมกลางที่มีประสิทธิภาพ
นางศรินทรเสนอให้มีระบบควบคุมการเบิกจ่ายแบบผู้ป่วยใน (IPD) เช่น ระบบ DRG ที่กำหนดเพดานการจ่ายตามโรค เพื่อป้องกันไม่ให้ค่ารักษาพุ่งสูงเกินเหตุ และควรจำกัดสิทธิประโยชน์ที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อให้เงินกองทุนถูกใช้กับบริการที่จำเป็นจริง ๆ
ค้านนโยบาย “ตู้ห่วงใย” มองสิ้นเปลืองงบฯ
เธอยกตัวอย่างการลงทุนของ สปสช. ในระบบ “ตู้ห่วงใย” พบหมอและจ่ายยา มีค่าใช้จ่ายสูงถึงครั้งละกว่า 500 บาท ซึ่งเธอมองว่ามี “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ที่เน้นความใกล้บ้านและการเข้าถึงง่ายอยู่แล้ว
“หมอตู้ หรือตู้ห่วงใจ บางครั้งคนไข้ได้รับยาซ้ำซ้อน หรือไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาเช่นดื้อยาโดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว”
ขณะที่สถานการณ์งบประมาณในปีงบประมาณ 2567 การให้บริการในช่วง 5 เดือนแรก สปสช. ติดลบกว่า 1,000 ล้านบาท โดยคลินิกเบิกไปรวม 800 กว่าล้านบาท แต่ได้รับจ่ายจริงเพียง 70% ส่วนโรงพยาบาลเบิกสูงถึง 1,500 กว่าล้าน ขณะที่งบที่มีอยู่จริงมีเพียงพันกว่าล้านบาท
“สุดท้าย สปสช.ก็มาบอกให้หน่วยบริการคืนเงิน ทั้งที่รักษาไปแล้ว จ่ายยาไปแล้ว ใครจะคืนได้ล่ะคะ?” เธอระบุ
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ นางศรินทรเสนอว่าหากไม่สามารถควบคุมมาตรฐานการใช้จ่ายในระบบ OP Refer ได้ ก็ควร “แยกงบ” ออกมาอย่างเป็นอิสระ และให้โรงพยาบาลบริหารจัดการกันเอง พร้อมเรียกร้องให้ สปสช. ทบทวนนโยบายสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ อย่างจริงจัง ไม่ให้ซ้ำซ้อน หรือสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุจะต้องนำงบมาใช้ในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ
สปสช.ค้าน แยกงบ OP Refer ชี้เสี่ยงส่งต่อผู้ป่วยเกินจำเป็น
ด้าน นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ให้สัมภาษณ์กับ #เก็บตกจากวชิรวิทย์ ด้วยว่า “ไม่เห็นด้วย” กับข้อเสนอที่ต้องการแยกงบประมาณสำหรับบริการผู้ป่วยนอกที่ส่งต่อ (OP Refer) ออกจากงบปฐมภูมิ โดยให้เหตุผลว่าการดำเนินการเช่นนั้นจะทำให้ระบบขาดความเป็นเครือข่าย และอาจนำไปสู่การส่งต่อผู้ป่วยเกินความจำเป็น
“ถ้าเราแยกงบ OP Refer ออกไป อาจจะยิ่งเกิดปัญหาการส่งต่อมากขึ้น เพราะทุกคนก็อยากให้ผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาล ซึ่งอาจไม่จำเป็นจริง ๆ” นพ.วีระพันธ์กล่าว
นพ.วีระพันธ์ระบุว่า สาระสำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการสร้างเครือข่ายบริการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ใกล้บ้าน โดยเริ่มต้นที่หน่วยบริการปฐมภูมิ หากจำเป็นจึงส่งต่อไปยังระดับทุติยภูมิหรือตติยภูมิ ซึ่งต้องรักษาความต่อเนื่องของระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ใช่แยกออกเป็นกลุ่มงบประมาณย่อย ๆ ตามประเภทบริการ
“เป้าหมายของระบบคือการสร้างความมั่นใจในหน่วยบริการปฐมภูมิ ถ้าทำให้ประชาชนมั่นใจว่าได้รับการรักษาใกล้บ้านอย่างมีคุณภาพ จะลดภาระการส่งต่อได้มาก” เขากล่าว
ไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวหาว่า “สิทธิประโยชน์มากเกินไป”
นอกจากประเด็นงบประมาณ นพ.วีระพันธ์ยังกล่าวถึงข้อวิจารณ์ที่ว่า สปสช.ออกสิทธิประโยชน์มากเกินไปจนกระทบต่อการบริหารงบว่า ตน “ไม่เห็นด้วย” โดยชี้ว่าสิทธิประโยชน์หลายรายการยังไม่ครอบคลุมความต้องการของประชาชน และยังมีประชาชนบางกลุ่มเข้าไม่ถึงสิทธิ
“บางครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคยากหรือใช้ยาราคาแพง อาจต้องไปกู้เงินรักษาเอง ถ้าเราตัดสิทธิเหล่านี้จะยิ่งซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ” เขากล่าว
กรุงเทพฯ ต้องการระบบบริหารจัดการที่สอดคล้องกับบริบท
นพ.วีระพันธ์ยอมรับว่า ระบบบริการสุขภาพในเขตกรุงเทพมหานครมีความซับซ้อนและแตกต่างจากพื้นที่อื่น เนื่องจากมีประชากรแฝงจำนวนมาก โดยมีผู้มีสิทธิ์หลักประกันประมาณ 5 ล้านคน แต่มีผู้อยู่อาศัยจริงถึง 8–10 ล้านคน ยังไม่นับรวมแรงงานย้ายถิ่นและนักท่องเที่ยว
เขาเสนอว่า ควรมีการพิจารณาให้กรุงเทพมหานครเป็น “พื้นที่พิเศษ” เช่นเดียวกับเขตชายแดนใต้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติม อาจรวมถึงมาตรการจูงใจเอกชน เช่น การลดภาษี เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในระบบหลักประกันมากขึ้น
ยืนยันเจตนารมณ์ “งบเดียว” เพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่อง
นพ.วีระพันธ์เน้นย้ำว่า การรวมงบประมาณระหว่างหน่วยบริการต้นทาง (ปฐมภูมิ) กับปลายทาง (ทุติยภูมิ) เป็น “เจตนารมณ์” ของระบบที่ต้องการให้เกิดความเป็นเครือข่าย และลดความขัดแย้งในการเบิกจ่าย
“เมื่อไม่แยกงบ ก็ต้องร่วมรับผิดชอบร่วมกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการเรียกเก็บค่าบริการ หรือปฏิเสธผู้ป่วยเพราะไม่มีใบส่งตัว” เขากล่าว พร้อมยอมรับว่า ปัจจุบันยังมีปัญหาใบส่งตัวที่หน้างานกลายเป็นเสมือน “ใบประกันค่าใช้จ่าย” มากกว่าการใช้เพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย
นักวิจัย สธ. เสนอ “แฮมเบอร์เกอร์โมเดล” แก้ปัญหาจ่ายเงินคลินิกฯ
นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ นักวิจัยจากสำนักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสนอแนวทางปรับปรุงระบบการจ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนในการจัดบริการสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเปรียบเปรยโครงสร้างการจัดบริการสุขภาพว่า ควรเป็นโมเดล “แฮมเบอร์เกอร์” 3 ชั้น เพื่อให้แต่ละระดับรับผิดชอบตามหน้าที่อย่างชัดเจน และแก้ปัญหาคลินิกที่รับภาระหนักแต่ไม่ได้รับเงินอย่างเหมาะสม
นพ.อานนท์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดข้อร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับบริการสุขภาพในกรุงเทพฯ มาจากระบบการจ่ายเงินที่ไม่ชัดเจนและไม่เป็นธรรมกับหน่วยบริการ โดยเฉพาะคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งด่านแรกของระบบบริการ
“ชั้นแรกคือคลินิกที่ดูแลประชาชนโดยตรง เราต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า คลินิกควรให้บริการอะไรได้บ้างเป็นอย่างน้อย พร้อมกับคำนวณต้นทุนบริการว่า คลินิกหนึ่งควรได้รับค่าตอบแทนต่อประชากรเท่าไร เช่น เบื้องต้นเราคำนวณไว้ที่ 30 บาทต่อคนต่อเดือน” นพ.อานนท์ กล่าว
เขาเสนอว่าเงินจำนวนนี้ควรถือเป็นค่าขั้นต่ำ หรือ บัฟเฟอร์ที่รัฐต้องจ่ายให้คลินิกอย่างแน่นอน เพื่อให้คลินิกการันตีคุณภาพการบริการได้อย่างเหมาะสม
จากนั้นชั้นที่สอง เขาเสนอให้มีระบบประสานงานในระดับเขต โดยให้ “ศูนย์บริการสาธารณสุข” ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานประจำ ทำหน้าที่ร่วมกับคลินิกเอกชนในการดูแลประชาชน โดยใช้งบประมาณจากกองทุนอื่น มาช่วยแบ่งเบาภาระของคลินิก โดยเฉพาะคลินิกที่มีจำนวนประชากรในความดูแลน้อยกว่า 3,000-5,000 คน ซึ่งมีต้นทุนสูงแต่รายรับต่ำ
“ต้องมีการแบ่งงานและเงินชัดเจน คลินิกเล็กที่ดูแลประชากรน้อยจะไปต่อไม่ได้ถ้าไม่มีพาร์ทเนอร์อย่างศูนย์บริการสาธารณสุขหรือระดับเขตเข้ามาช่วย” เขากล่าว
สำหรับชั้นบนสุดของระบบบริการ นพ.อานนท์ เสนอให้โรงพยาบาลซึ่งเป็นด่านท้ายของระบบร่วมกันบริหารจัดการงบประมาณแบบมีส่วนร่วม โดยเสนอให้ตั้งคณะทำงานกลาง เช่น สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร หรือเครือข่ายโรงพยาบาลต่าง ๆ ช่วยกำหนดแนวทางมาตรฐานการรักษาในระดับตติยภูมิ (โรงพยาบาล) ให้ชัดเจน
ชงผู้ว่าฯ กทม. นั่งประธาน อปสข. รับผิดชอบระบบสาธารณสุข กทม.
นอกจากโครงสร้าง “แฮมเบอร์เกอร์” ที่เสนอแล้ว นพ.อานนท์ ยังเสนอแนวทางเพิ่มความรับผิดชอบในระบบ โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งมาจากการเลือกตั้ง เข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในพื้นที่กทม. โดยเสนอให้ผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการอปสข. (คณะกรรมการเขตบริการสุขภาพ) เพื่อเพิ่มความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้เกิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น
“เราต้องทำให้ผู้ว่าฯ มีบทบาทในการเสนอแนวทางและรับผิดชอบเรื่องงบประมาณด้านสุขภาพ เพราะถ้ามีคนที่ประชาชนเลือกตั้งมาเป็นเจ้าภาพ ระบบจะมี accountability มากขึ้น” นพ.อานนท์ กล่าว
ต้องยกระดับ “สำนักแพทย์-สำนักอนามัย” เป็นหน่วยบริหารระบบสุขภาพ
ท้ายที่สุด นพ.อานนท์ ชี้ว่า หากกรุงเทพมหานครต้องการเป็นเจ้าภาพด้านระบบสุขภาพอย่างแท้จริง จำเป็นต้องยกระดับสำนักแพทย์และสำนักอนามัย ซึ่งเดิมเน้นให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข มาเป็น “ผู้บริหารจัดการระบบสุขภาพ” ในภาพรวม โดยต้องมีศักยภาพวิเคราะห์ระบบ ควบคุมคุณภาพ และบริหารจัดการงบประมาณร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ
“ถ้าเรายกระดับ 2 สำนักนี้ให้สามารถมองระบบสุขภาพแบบองค์รวม ไม่ใช่แค่เรื่องคลินิกหรือการให้บริการเพียงอย่างเดียว ก็จะช่วยให้ปัญหาทั้งระบบในกรุงเทพฯ จัดการได้ดีขึ้น” เขากล่าว
รองทวิดาฯ ชี้ระบบเปลี่ยนบ่อย แบกภาระเกินกำลัง
เมื่อระบบสาธารณสุขในเขตเมืองหลวงถูกท้าทายด้วยปริมาณผู้ป่วยที่ล้นเกินและโมเดลการบริหารที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาสะท้อนสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมาในการประชุมเชิงนโยบายเรื่องสุขภาพว่า เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุข กำลังเผชิญกับภาระหนักที่เกินขีดจำกัด และจำเป็นต้องได้รับการเห็นใจและการสนับสนุนเชิงระบบโดยเร็ว
“เราเหมือนวิ่งไล่จับปัญหาโดยไม่ได้แก้ระบบ เหนื่อยจนไม่รู้ว่าเหลือใจไว้แค่ไหนแล้วค่ะ” รศ.ทวิดา กล่าว
รศ.ทวิดาเริ่มต้นด้วยการสะท้อนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาทีมสาธารณสุขของ กทม. พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่โดยไม่ปฏิเสธคำสั่งใด ๆ จากผู้บริหารระดับสูง
“ไม่เคยไม่ทำให้เลย ไม่ว่าเราจะขออะไร กทม.ก็ให้หมด ใช้งานหมอหนักมาก รู้ตัวค่ะ ว่าหนักเกินไป”
เธอยังกล่าวถึงความท้าทายสำคัญคือ “โมเดลที่เปลี่ยนบ่อย” ทำให้หน่วยงานต้องปรับตัวตลอดเวลาโดยไม่สามารถวางระบบให้มั่นคงได้ ซึ่งอาจทำให้การบริหารงานเกิดความสับสนและไม่ตอบโจทย์ระยะยาว
ในด้านการบริการ รศ.ทวิดาเน้นว่าหน่วยงานสาธารณสุขของ กทม. ได้ขยายบริการทุกมิติ ทั้งการเปิดศูนย์บริการสาธารณสุขในวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ การเพิ่มบริการใหม่ ๆ เช่น การตรวจสุขภาพฟรี รวมถึงการจัดสรรงบประมาณจาก กทม. เพื่อสนับสนุนการดูแลประชาชนโดยตรง
“เราเอางบประมาณจาก กทม. เอง ลงไปกว่า 50 ล้านบาท เพื่อทำให้เป้าหมายเรื่องสุขภาพตกเป้า… แม้รู้ว่าเปลี่ยนพฤติกรรมคนไม่ได้ในไม่กี่ปี แต่ก็ยังทำเต็มที่”
แต่ภาระกลับเพิ่มมากขึ้นจากการที่ต้องดูแลประชาชนที่หลุดจากระบบหลักประกันอื่น ๆ เช่นจากคลินิกอบอุ่นหรือโรงพยาบาลอื่น ๆ จนต้องรองรับผู้ใช้บริการเกือบ 880,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงผู้ป่วยจากคลินิกอบอุ่นของ กทม. เองที่มีอีกกว่า 430,000 คน
“ตอนนี้เราแบกอยู่แถวนี้ทั้งหมด ถ้าไม่ถือว่าเป็นของเราก็ตายค่ะ เพราะคนไข้เค้ามาแล้ว จะไล่กลับก็ไม่ได้”
บุคลากร “หมดใจ” แต่ยังสู้ – เสนอรัฐจัดสรรงบให้เพียงพอ
รองผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวด้วยความห่วงใยต่อบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ทำงานอย่างหนัก โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลใกล้ชิด ซึ่งภาระนี้ตกอยู่ที่พยาบาลเป็นหลัก
“หมอยังน้อยใจ แต่คนที่เหนื่อยกว่าคือพยาบาลค่ะ เขาออกไปเยอะแล้ว เพราะเขาแบกรับภาระดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นตลอด”
นอกจากนี้ ยังระบุว่าบุคลากรของ กทม. ถูกหักค่าแรงในบางกรณี และยังมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำให้สถานะไม่มั่นคง ทั้งที่ต้องทำงานนอกเวลา เช่น 16.00–20.00 น. รวมถึงวันหยุด
“ทำงานเหนื่อยมาก แต่เงินเดือนยังถูกหักอยู่ แล้วคนพวกนี้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประจำ กทม. ทั้งหมดด้วยซ้ำ”
รศ.ทวิดายังตั้งข้อสังเกตว่า “สิทธิสุขภาพ” ในปัจจุบันควรเป็นสิทธิที่ประชาชนเข้าถึงได้โดยไม่ต้องเดือดร้อน และคนให้บริการก็ไม่ควรเหนื่อยจนหมดแรง พร้อมเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมจากรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะเพื่อรองรับผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเปราะบางมากขึ้นทุกปี
“อยากให้สิทธิสุขภาพเป็นสิทธิที่สงบ ไม่ใช่สิทธิที่เดือดเนื้อร้อนใจ ทั้งคนไข้และคนที่ดูแลคนไข้ตอนนี้ล้าหมดแล้วค่ะ”
เรียกร้อง “ฟังกันให้มากขึ้น” และออกแบบระบบใหม่ร่วมกัน
ท้ายที่สุด รองผู้ว่าฯ กทม. เสนอให้ทุกฝ่ายกลับมาร่วมกันออกแบบระบบใหม่ โดยให้ความสำคัญกับเสียงของผู้ให้บริการที่อยู่แนวหน้า เพื่อให้ระบบมีความยั่งยืนและลดภาระซ้ำซ้อน
“ถ้าทุกคนร่วมกันออกแบบ เราไม่น่าจะเก่งน้อยจนแก้ปัญหานี้ไม่ได้ค่ะ แค่ต้องฟังกันให้มากกว่านี้”
“ประชาชนต้องหาย แต่คนทำงานก็ต้องไม่ป่วยไปก่อน”
เธอย้ำว่า ถึงแม้กรุงเทพฯ จะมีบริบทพิเศษที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น แต่ก็ยังคงทำทุกทางเพื่อดูแลประชาชนให้ดีที่สุด พร้อมขอความเข้าใจจากทุกฝ่ายว่า “การไม่มีผลกำไรเลย” สำหรับภาคเอกชนไม่ใช่คำตอบ และการขับเคลื่อนด้วยใจเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอในความเป็นจริง.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น