“คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยันได้ค่าเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง 10 บาท จริง!

เปิดเอกสาร รายรับคลินิกฯ ช็อก! งบรายหัวบัตรทอง เหลือแค่ 10 บาท ถึงขั้นต้องกู้เงินรักษาคนไข้ เหตุถูกหักค่าส่งต่อผู้ป่วยไปรพ.เกลี้ยง เสนอแยกงบฯ คลินิกปฐมภูมิ - โรงพยาบาล คาดผู้ประกอบการทยอมออกจากระบบนับร้อยหากสปสช. ไม่เร่งแก้ไข ระบบสาธารณสุข กทม.ล่ม ด้าน “สมศักดิ์” ตั้งคณะกรรมการศึกษาต้นทุนฯ ขณะที่ “สปสช.” แนะคลินิก จัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากขึ้น



จากกรณีญาติผู้ป่วยออกมาร้องเรียนปัญหาคลินิกชุมชนอบอุ่น กทม. ไม่ออกใบส่งตัวผู้ป่วยมะเร็ง โดยมีคลินิกแห่งหนึ่งระบุว่าได้รับค่าเหมาจ่ายรายหัวเพียง 10 บาทต่อคนต่อเดือน ทำให้ไม่มีเงินในการดำเนินการแล้ว


วันนี้ (4 มี.ค. 2568)  ตัวแทนคลินิกชุมชนอบอุ่น กทม. ให้ข้อมูล The Active ว่า เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โอนจ่ายเงินให้กับคลินิก พบว่าจำนวนเงินที่ได้รับเพียง 10-26 บาทต่อคนต่อเดือนจริง ซึ่งส่วนใหญ่ไปหนักที่ OP Refer (ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อ หรือ ใบส่งตัว) ซึ่งต่ำกว่า 800 บาท


ทำให้งบประมาณรวม ที่จัดสรรให้คลินิกชุมชนอบอุ่นแต่ละแห่งต่อเดือนต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 56,000 บาท แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย Fixed Cost หรือค่าใช้จ่ายประจำของคลินิก เดือน 450,000 - 500,000 ต่อเดือน จึงไม่เพียงพอ


ก่อนหน้านี้ งบประมาณส่วนกลางที่จัดสรรลงมายังคลินิกถูกหักออกไปบางส่วนแล้ว ที่ต้องตามจ่าย 800 บาทแรกเขียนใบส่งตัว และเกิน 800 บาทที่คลินิกฯ และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ถูกหักจาก สปสช. 312 บาทต่อคนต่อปี ไปเป็นงบส่วนกลางเพื่อตามจ่ายโรงพยาบาล รักษาผู้ป่วยใน


โดยปกติแล้ว งบประมาณรายหัวที่ได้รับควรอยู่ที่ ประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อปี แต่เนื่องจาก ถูกแบ่งไปตั้งกองทุนย่อยจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น กองทุน CA (กองทุนมะเร็ง) ที่โรงพยาบาลไม่ค่อยไปเบิก หรือกองทุนฉุกเฉินที่โรงพยาบาลแทบไม่เคยใช้เลย และ IPD (ผู้ป่วยใน) ทั้งๆ ที่คนไข้จำเป็นต้องแอดมิตเข้าโรงพยาบาล แต่กลับไปเบิกงบจาก OPD (ผู้ป่วยนอก) แทน ซึ่งทำให้ภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาตกอยู่ที่คลินิก 


สุดท้ายแล้ว เมื่อเงินถูกโอนไปให้โรงพยาบาลทั้งหมด แต่โรงพยาบาลยังบอกว่าขาดทุน คำถามคือ โรงพยาบาลได้รับเงินจาก สปสช. จริงหรือไม่? เพราะในขณะเดียวกัน คลินิกก็ไม่ได้รับเงินเพียงพอเช่นกัน แต่กลับต้องตามจ่ายรับภาระจ่ายค่า OP Refer เพิ่มขึ้น


กรณีตัวอย่าง เช่น คลินิกฯ แห่งหนึ่งได้รับงบประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อปีแต่เมื่อคำนวณจริง เงินที่ได้รับถูกหักไปหลายส่วนจนเหลือเพียง 60 บาทต่อคนต่อปี หากคำนวณจากจำนวนผู้ป่วย 10,000 คน จะได้รับเงินประมาณ 600,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งสปสช. จ่าย 2 ครั้งต่อเดือน ในการจ่ายแต่ละครั้ง เงิน 300,000 จะหักถูกค่า OP Refer  200,000 บาทต่อเดือน หรือมากกว่านั้น  ซึ่งเมื่อหักลบจะมีเงินเพียง 100,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับค่าจ้างและค่าใช้จ่ายประจำของคลินิก ซึ่งตกราว 4-5 แสนบาทต่อเดือน ส่งผลให้หลายคลินิกต้องหาเงินจากแหล่งอื่น เช่น การกู้เงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพื่อนำมาหมุนเวียนในการดูแลผู้ป่วย


ดังนั้นจึงเสนอว่า งบประมาณกองทุนสำหรับคลินิกชุมชนอบอุ่น และงบของโรงพยาบาล ควรถูกแยกออกจากกันชัดเจน คลินิกชุมชนอบอุ่นได้รับงบฯสำหรับการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิ ซึ่งหมายถึงการรักษาตามศักยภาพของคลินิกเอง โดยมีมาตรา 46 รองรับ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น


ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลจะใช้เงินงบประมาณของตัวเองในการดูแลผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการส่งต่อ เช่น ทำไมคลินิกไม่ส่งตัว หรือทำไมไม่มีการออกใบส่งตัว เพราะบางกรณีอาจเกินขีดความสามารถของคลินิก การแยกงบประมาณระหว่างคลินิกชุมชนอบอุ่นและโรงพยาบาลจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการดูแลประชาชน 


ตัวแทนคลินิกฯ คาดว่าถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป จากจำนวนคลินิกฯในปี 2566 ที่มีอยู่ราว 370 กว่าแห่งในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันปี 2568 เหลือคลินิกชุมชนอบอุ่นเพียง 240 แห่ง และจะทยอยออกจากโครงการบัตรทองไปอีกร้อยกว่าแห่งในสิ้นปีนี้ และปี 2569 อาจจะไม่เหลือคลินิกชุมชนอบอุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะกระทบต่อระบบสาธารณสุข กทม. 


สมศักดิ์ ตั้งคณะกรรมการศึกษาต้นทุนฯ 


ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุขว่า ระบบการบริหาร สปสช.มีระเบียบอยู่ การใช้งบประมาณปลายปิด หากมีผู้เจ็บป่วยแสนครั้ง ได้ครั้งละ 500 บาท แต่ถ้าเจ็บป่วย 2 แสนครั้ง ก็จะเหลือ 250 บาท เป็นงบประมาณปลายปิด




“ถ้ามีเคสเกิดขึ้นมากมายก็เป็นหน้าที่ของสปสช.ต้องหามาเติม ถ้าหากเติมไม่ได้ก็ต้องหารือบอร์ดเพื่อหาแนวทางการแก้ไข  ผมได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาต้นทุน เพื่อดูต้นทุนของแต่ละโรคที่เราต้องติดาม ทำควบคู่กับการทำงานของสปสช.เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบ ให้ผู้รู้เสนอความเห็นผ่านคณะกรรมการชุดนี้ เป็นการรับเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูล” รมว.สธ. กล่าว 


สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ยืนยันนโยบายรัฐบาลไม่ให้ร่วมจ่ายอยู่แล้ว รัฐต้องเป็นผู้จ่ายแต่จะใช้อย่างฟุ่มเฟือยหรือไม่ ตนก็ตอบไม่ได้ จะให้ช่วยสาธารณะช่วยตอบ 


ถามอีกว่ามีข้อมูลคลินิกจากออกจากบัตรทอง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่ตนไม่ได้ตามดูทั้งหมด อาจจะเป็นเหตุอื่นหรืออย่างไรก็ต้องมาดูกัน  เป็นหน้าที่เราที่ต้องศึกษาวิเคราะห์ 



สปสช. แนะคลินิก จัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากขึ้น



ขณะที่ วานนี้ (4 มี.ค. 2568) นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เชิญผู้ประกอบการคลินิกชุมชนอบอุ่นซึ่งเป็นคลินิกเอกชนที่ร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 31 แห่งที่ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวในงวดที่ผ่านมา 10 บาท และ ไม่เกิน 20 บาท มาร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการจัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวผู้ป่วยนอก ภายหลังจากที่พบว่ามีคลินิกเอกชนฯ หลายแห่งขาดสภาพคล่อง ซึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายผู้ป่วยนอกที่หน่วยบริการรับผิดชอบจ่ายเอง กรณีส่งต่อ 800 บาท และกรณีเหตุสมควรจำเป็นในเครือข่ายฯ 200 บาทที่ สปสช. มีการคาดประมาณไว้ สูงกว่าเงินที่ สปสช.มีการกันไว้สำหรับชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำให้ต้องมีการหักงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มเติม      


เบื้องต้นทางคลินิกเอกชนฯ ได้มีข้อเสนอต่อทาง สปสช. ขอให้ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่น คือในรอบการโอนจ่ายงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวผู้ป่วยนอกในวันที่ 10 มีนาคม 2568 นี้ ขอให้ สปสช. จ่ายที่อัตรา 40 บาทต่อประชากรก่อน โดยชะลอภาระค่าใช้จ่ายไว้ก่อน ทั้งนี้เพื่อให้คลินิกชุมชนอบอุ่นได้มีเงินหมุนเวียนในระบบเพื่อสามารถจัดบริการได้ 


นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า คลินิกชุมชนอบอุ่น ยังมีข้อเสนอขอให้ สปสช. ไม่หักเงินชำระหนี้ข้ามกองทุน ให้มีการตรวจสอบข้อมูลการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลจากงบผู้ป่วยนอกกรณีส่งต่อตามหลักเกณฑ์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และขอให้ สปสช. หารือกับศูนย์บริการสาธารณสุขในการเปิดรับประชากรเพิ่ม เนื่องจากมีคลินิกฯ บางแห่งขอพักการลงทะเบียนสิทธิผู้ป่วย ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และการลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อร้องเรียนเรื่องการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ทาง สปสช.ขอให้คลินิกส่งต่อผู้ป่วยตามศักยภาพของคลินิกและความจำเป็นของผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและผู้ป่วยได้รับบริการที่เป็นไปตามมาตรฐาน    


สำหรับคลินิกชุมชนอบอุ่นถึงแม้รายรับส่วนใหญ่มาจากงบผู้ป่วยนอกเหมาจ่ายรายหัว แต่ยังมีรายรับจากบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งคลินิกฯ ต้องจัดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมากขึ้น อีกทั้งเป็นเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชนด้วย อย่างไรก็ดีข้อเสนอที่คลินิกชุมชนอบอุ่นนำเสนอมานี้ ทาง สปสช. จะได้นำไปพิจารณาในแนวทางดำเนินการต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หมอมานพ แจงยิบ! เงื่อนไขใหม่ “มะเร็งรักษาทุกที่” ทำไมต้องมีใบส่งตัว

บัตรทอง ใช้งบผิดทาง ปลายปิดกับรพ.ใหญ่ ปลายเปิดกับร้านยา