รัฐเดินหน้าสร้างฝายดักตะกอนน้ำกก แม้นักวิชาการเตือน ชาวบ้านกลัวดินอ่อนทรุด
สืบสกุล สงสัย “ตะกอนพิษเอาไปทิ้งไหน” มองรัฐไร้ทางเจรจาปิดเหมือง จึงเลือกสร้างฝายเป็นทางออกสุดท้าย ขณะที่ชาวแม่อาย เล่าประสบการณ์น้ำแรงผิดปกติ กลัวฝายพังหลังดินซึมน้ำง่าย ด้านประธานฝายเชียงราย เสนอ “ปิดเหมืองดีกว่า” ชี้ของเหลวปนเปื้อนยังไหลผ่านฝายได้
สืบเนื่องจากข้อสั่งการ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงฯ ได้เพิ่มระดับความเข้มข้นในการติดตามและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในลำน้ำสายสำคัญของภาคเหนือ โดยหนึ่งในนั้นคือเร่งดำเนินการสร้างฝายดักตะกอน ในลำน้ำที่ไหลเข้าสู่เขตแดนไทย โดยมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำรับผิดชอบการออกแบบและก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการแพร่กระจายของสารหนูและโลหะหนัก
วันนี้ (10 มิ.ย.2568) สืบสกุล กิจนุกร อาจารย์ประจำสำนักวิชานวัตกรรมสังคม ตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการดังกล่าวอาจไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืน หากไม่มีความกล้าในการจัดการต้นเหตุอย่างแท้จริง
อาจารย์สืบสกุลระบุว่า รัฐบาลรับรู้ดีว่าตนไม่สามารถกดดันให้ยุติการทำเหมืองในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นต้นเหตุของสารปนเปื้อนในแม่น้ำก จึงเลือกใช้แนวทาง “ตั้งรับ” โดยประกาศสร้างฝายดักตะกอน 7-8 จุดตลอดลำน้ำก เพื่อลดปริมาณสารโลหะหนักที่ไหลลงมา โดยอ้างอิงจากฝายเชียงรายที่เคยมีผลวัดค่าตะกอนโลหะหนักลดลง
“รัฐบาลเชื่อว่าฝายเชียงรายเวิร์ก เพราะแม้ค่าศาลโลหะยังเกินมาตรฐาน แต่ค่าดัชนี K1 ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่ง กลับลดลงหลังมีการดักตะกอน ทำให้เชื่อว่าการสร้างฝายจะช่วยแก้ปัญหาได้” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้นี้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของแนวทางดังกล่าว โดยชี้ว่า แม้ตะกอนจะถูกดักไว้ แต่สิ่งที่ตามมาคือปัญหาใหม่ที่ใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือ “ปริมาณตะกอนปนเปื้อนสารโลหะหนักจำนวนมหาศาล” ที่ต้องมีการจัดการอย่างจริงจัง
“เราจะเอาตะกอนไปทิ้งที่ไหน ใครจะยอมรับตะกอนที่มีสารพิษ? แล้วต้องตักอีกกี่ปี กว่าจะหยุดปัญหาได้ เพราะเหมืองยังทำต่อทุกวัน” เขากล่าว พร้อมชี้ว่าแนวคิดการสร้างฝายหลายจุด เท่ากับเป็นการแก้ปัญหาหนึ่ง แต่กลับก่อปัญหาใหม่อีกหลายด้าน ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม การยอมรับของชุมชน และภาระทางงบประมาณ
แม้รัฐบาลจะเร่งเดินหน้าโครงการ แต่กลับไม่มีแผนรองรับสำหรับแม่น้ำสาย แม่น้ำลวก และแม่น้ำโขง ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำก และอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน ทั้งยังไม่มีข้อมูลชัดเจนเรื่องการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือการเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
“โครงการใหญ่แบบนี้ควรมีการทำ EIA และเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นเลยว่าเคยมีการรับฟังความคิดเห็น หรือประเมินความเป็นไปได้จริงๆ ด้วยซ้ำ” เขากล่าว
นักวิชาการรายนี้ยังเตือนว่า หากรัฐบาลยังยืนยันเดินหน้าสร้างฝายโดยไม่จัดการที่ต้นเหตุ การดักตะกอนก็จะต้องทำซ้ำทุกวัน โดยไม่มีที่สิ้นสุด และกลายเป็นภาระที่รัฐและประชาชนต้องแบกรับอย่างต่อเนื่อง
ชาวบ้านริมกกไม่เอาฝาย หวั่นน้ำแรง-ดินอ่อน พังซ้ำซาก
แก้ว ทิมทอง ชาวบ้าน ม.14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ คัดค้านแนวคิดสร้างฝายถาวรในพื้นที่ หวั่นกระทบระบบน้ำตามธรรมชาติ และกังวลเรื่องความปลอดภัยจากสภาพดินที่ไม่มั่นคง หลังเคยเห็นระดับน้ำสูงผิดปกติจนไหลเข้าถึงพื้นที่อยู่อาศัย แม้ไม่มีสิ่งกีดขวางน้ำใดๆ
“ขนาดไม่มีฝาย น้ำยังแรงจนไหลเข้ามาถึงตรงนี้(หน้าบ้าน) อยู่มาตั้งนานยายยังไม่เคยเห็นน้ำแรงแบบนี้มาก่อน” หญิงสูงวัยรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ พร้อมชี้ให้ดูจุดที่น้ำเคยไหลมาถึงเมื่อปีก่อน
เธอกล่าวว่า หากมีการสร้างฝาย อาจช่วยชะลอน้ำได้บ้าง แต่หากน้ำถูกกักไว้จำนวนมากแล้วฝายเกิดพังขึ้นมา จะยิ่งเป็นอันตรายมากกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อดินบริเวณนี้มีสภาพอ่อน และดูดซับน้ำได้ง่าย
เช่นเดียวกับ เพียว ทิมทอง ชาวบ้าน ม.14 ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ บอกว่ากลัวพังอย่างเดียว เพราะดินแถวนี้มันอ่อน คนแถวนี้รู้กันดี ถ้าอัดคอนกรีตแน่นๆ ก็ยังไม่มั่นใจอยู่ดี เพราะรอบๆ มันยังซึมน้ำได้ ไม่ได้อัดทั้งหมดเหมือนกัน เสารั้วบางบ้านยังร้าวเพราะน้ำดันเลย
เขากล่าวว่า ไม่ได้มีแค่หมู่บ้านของตนที่ไม่เห็นด้วย แต่หลายชุมชนตลอดแนวแม่น้ำกก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ต่างก็รู้สึกไม่สบายใจกับโครงการนี้ ขณะที่คนในพื้นที่สูงอาจไม่รู้สึกถึงผลกระทบโดยตรง จึงไม่แสดงความเห็นมากนัก
ก่อนหน้านี้เมื่อ 20 ปีก่อน ก็เคยมีการเสนอสร้างฝายแม่น้ำกก ในพื้นที่ที่แม่น้ำกกไหลเข้าประเทศไทยจุดแรก ที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เช่นกัน แต่มุมมองจากคนในพื้นที่สะท้อนว่า การแก้ปัญหาจำเป็นต้องฟังเสียงชาวบ้านให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากและระบบนิเวศที่เปราะบาง
ด้าน ปฐมพงศ์ แผงฤทธิ์ ประธานผู้ใช้น้ำฝั่งขวา ฝายเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย ก็ไม่เห็นด้วยกับการสร้างฝายดักตะกอน พร้อมเสนอว่าควร “ปิดเหมือง” มากกว่า
“ฝายดักตะกอนอาจดักตะกอนได้บ้าง แต่ของเหลวกับตะกอนมันมาด้วยกัน สุดท้ายสารปนเปื้อนก็ไหลลงมาอยู่ดี… ถ้าเอาจริง ผมว่า ‘ปิดเหมือง’ ไปเลยจะดีกว่า ไม่อยากให้ลูกหลานต้องมารับผลกระทบแบบนี้” ประธานฝายย้ำ
แต่สำหรับ วรเพชร ศิริชุมพู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ต.เวียงเหนือ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย มองว่า เป็นแนวทางที่ดี หากสามารถใช้งานได้จริง ถ้ามีการก่อสร้างเพื่อให้น้ำสะอาดขึ้น เอาไปใช้ทำมาหากินได้ก็เห็นด้วย ถือเป็นการช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ก็อยากให้มั่นใจว่าทำแล้วได้ผล ไม่ใช่ทำแล้วไม่เวิร์ก เพราะถ้าใช้งบแต่ไม่มีผลก็น่าเสียดาย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น