เตือน “ตุ๊กตาโมนิ” เสี่ยงบาดเจ็บ-ติดเชื้อจากเข็มฉีดยาจริง
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ชี้ผิด มอก. กระทบพัฒนาการเด็ก และพฤติกรรมเลียนแบบ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้รัฐสั่ง “ห้ามขาย” เหมือนไต้หวันเคยทำ กรมอนามัย แนะผู้ปกครอง เลือกของเล่นที่ปลอดภัยเหมาะกับวัย
เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2568 กรมอนามัย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมแถลงข่าว “ปกป้องเด็กไทยจากของเล่นอันตราย” หลังพบการจำหน่ายของเล่นประเภท “ตุ๊กตากดสิว” หรือ “ตุ๊กตาโมนิ” อย่างแพร่หลาย ซึ่งประกอบด้วยกระบอกและเข็มฉีดยาของจริง เป็นอุปกรณ์เลียนแบบทางการแพทย์ที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ติดเชื้อ และสร้างพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสมในเด็ก
เข็มฉีดยาไม่ใช่ของเล่น อาจถึงขั้นเสี่ยงชีวิต
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ของเล่นประเภทนี้ แม้จะดูเหมือนไม่เป็นอันตราย แต่แท้จริงแล้วมีความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะการใช้ “เข็มจริง” ฉีดลมหรือของเหลวเข้าไปในตุ๊กตายาง เพื่อจำลองการเกิดสิว และให้เด็กกดสิวให้แตกออก ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงบาดเจ็บจากของมีคม หากเข็มนั้นไม่สะอาดหรือใช้ซ้ำ อาจนำไปสู่การติดเชื้อร้ายแรง
ของเล่นเลียนแบบอุปกรณ์ทางการแพทย์อาจทำให้เด็กเข้าใจผิดว่าเข็มฉีดยาเป็นของเล่นที่ใช้ได้ทั่วไป ซึ่งอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตหากมีการนำเข็มจริงมาเล่นโดยลำพัง
กรมอนามัยจึงขอความร่วมมือจากครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ให้เลือกของเล่นที่มีความปลอดภัย เหมาะสมกับวัย และผ่านมาตรฐาน มอก. 685 อย่างถูกต้อง
กุมารแพทย์ชี้ชัด “ตุ๊กตาโมนิ” ผิดมาตรฐาน ส่งเสริมพฤติกรรมผิดปกติ
รองศาสตราจารย์ พลตรีหญิง แพทย์หญิงฤดีวิไล สามโกเศศ ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ของเล่นชนิดนี้ ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 685-2562 ซึ่งว่าด้วยลักษณะทางฟิสิกส์ของของเล่นสำหรับเด็ก และไม่พบฉลากภาษาไทยที่ชัดเจน เช่น อายุผู้เล่นหรือคำเตือนความเสี่ยง จึงถือว่าเป็น “ของเล่นที่ผิดกฎหมาย”
ราชวิทยาลัยฯ ยังระบุว่า ของเล่นดังกล่าวไม่เพียงเสี่ยงต่อร่างกาย แต่ยัง ส่งผลต่อพฤติกรรมและพัฒนาการทางอารมณ์ เนื่องจากเนื้อหาของเล่นเน้นความผิดปกติของร่างกาย (สิว หนอง) และกระตุ้นพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก ซึ่งอาจส่งผลในระยะยาว
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้ “ห้ามขาย”
ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีนี้ควรมีอย่างน้อย 3 หน่วยงานเข้าร่วมตรวจสอบ โดยเฉพาะ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งควรกำกับให้ของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปีต้องผ่าน มอก. บังคับ
จากการตรวจสอบของศูนย์วิจัยพบว่า สินค้านี้ติดฉลาก มอก. 685 ปี 2540 ซึ่งล้าสมัย และ อาจเป็นการติดผิดฉบับ เพราะมาตรฐานล่าสุดคือปี 2562 ที่เพิ่มมาตรการคุ้มครองมากขึ้น
แม้สินค้าจะยื่นเอกสารถูกต้องครบถ้วน แต่อาจไม่มีใครเห็นสินค้าจริง ซึ่งปัญหาคือ เข็มฉีดยาเห็นด้วยตาก็รู้ว่าอันตราย ไม่จำเป็นต้องรอผลทดสอบ แต่เหตุใดหน่วยงานจึงยังต้อง “ตรวจซ้ำ” ทั้งที่มีการโพสต์ขายชัดเจน และมีผู้ร้องเรียนแล้ว
ทัศนีย์ กล่าวอีกว่า หากหน่วยงานอย่างสมอ. ไม่สามารถ “ห้ามขาย” ได้โดยตรง ก็ควรมีการประสานไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อใช้อำนาจออกประกาศห้ามจำหน่ายทันที เหมือนกรณี “ลูกโป่งวิทยาศาสตร์” ที่เคยถูกห้ามมาแล้วในอดีต
เทียบต่างประเทศ ไต้หวันสั่งห้ามขายทันที ปรับสูงสุด 2 ล้านบาท
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยกตัวอย่างว่า ในปี 2566 หน่วยงาน BSMI ของไต้หวัน ได้ออกคำสั่งให้แพลตฟอร์มออนไลน์ทุกแห่ง ห้ามจำหน่าย ของเล่นประเภทเดียวกัน โดยถือเป็น “สินค้าต้องห้าม” และมีโทษปรับถึง 2 ล้านเหรียญไต้หวัน (ราว 2 ล้านบาทไทย)
ขณะที่ประเทศไทยแม้สามารถยึดของได้ แต่ ยังไม่เคยมีการสั่งห้ามจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ทั้งที่มีความเสี่ยงสูง และวางขายใกล้โรงเรียน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น